xs
xsm
sm
md
lg

เหนือเริ่มโล่งแต่เด็กอนุบาลเสี่ยงรับสารมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย - ท้องฟ้าภาคเหนือโดยเฉพาะเมืองพ่อขุนฯ ทั้งเขตตัวเมืองและแม่สายเริ่มโล่ง ฝุ่นละอองจากหมอกควันไฟป่าลดระดับจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานแล้ว หลังเกิดวิกฤตจนเข้าขั้นอันตรายในห้างสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางด้านนักวิจัย นสธ.-สสส. สำรวจเด็กอนุบาลในพื้นที่หมอกควัน เสี่ยงรับสารก่อมะเร็งมากกว่า ชี้เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ทุกชนิด ทั้งสุมไฟ เผาเศษใบไม้ ก่อฝืน สูบบุหรี่ สร้างสารก่อมะเร็งได้ ชี้ต้องเร่งให้ความรู้ประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย วานนี้ (12 มี.ค.) ว่า สภาพอากาศโดยทั่วไปถือว่าปลอดโปร่งมากกว่าหลายวันที่ผ่านมา โดยเฉพาะชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สาย ซึ่งมีปริมาณฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนสูงเกินค่าความปลอดภัยต่อสุขภาพติดต่อกันมาหลายวัน

ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากรถตรวจอากาศเคลื่อนที่หน้าสำนักงานสาธารณสุข อ.แม่สาย พบมีปริมาณฝุ่นละอองเหลือเพียง 112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยระดับปานกลางและปลอดโปร่งเป็นครั้งแรกในรอบเดือนเลยทีเดียว เช่นเดียวกับการตรวจวัดจากหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ.เมือง ที่ลดลงเหลือเพียง 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ซึ่งสภาพดังกล่าวต่างจากวันก่อนหน้านี้ (11 มี.ค.) อย่างมาก เนื่องจากวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา แม่สายยังอยู่ในภาวะวิกฤต มีฝุ่นละอองในอากาศสูงถึง 329.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ อ.เมือง วัดได้ 290 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และวันที่ 10 มี.ค.55 ก็อยู่ในขั้นวิกฤติอันตราย โดย อ.แม่สาย ขึ้นสูงแตะระดับ 437.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ อ.เมือง วัดได้ 290.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ด้านนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สาเหตุที่ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศลดลงอย่างรวดเร็วและดีขึ้นทันตาเห็น คงเกิดจากการที่มีลมพัดแรงในช่วงนี้ และยังมีความกดอากาศสูงแผ่ปกคลุม รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ จ.เชียงราย มีฝนตก แม้ว่าเชียงราย จะไม่มีฝนตกโดยตรงก็ตาม แต่ก็ได้ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองหมอกควันที่พัดกระจายจากแหล่งอื่นๆ ลดลงอย่างมาก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดก็จะดำเนินการตามนโยบายที่ทางนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รมต.สำนักงานนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หยุดการเผาเป็นเวลา 3 วันเหมือนเดิมตั้งแต่วันที่ 12-14 มี.ค.นี้ เพราะแม้ค่าของอากาศจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ประมาท เนื่องจากปริมาณฝุ่นหมอกควันที่มากอาจจะกลับคืนมาอีกก็ได้

นายธานินทร์ กล่าวว่า เพราะได้รับแจ้งจากสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงราย ว่าภายในอีก 2-3 วันจากนี้อาจจะมีลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่อีก ซึ่งอาจจะหอบเอาฝุ่นละอองและหมอกควันเข้าไปในพื้นที่อีกครั้ง ดังนั้น นอกจากการหยุดเผาดังกล่าวแล้ว จังหวัดฯ ยังได้ประสานกับสำนักงานสาธารสุขจังหวัดเชียงราย และฝ่ายปกครองทุกอำเภอทั้ง 18 อำเภอของจังหวัด ให้เฝ้าระวัง พร้อมกับเตรียมสำรวจความเห็นของประชาชนว่า หากเกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้ง จะมีใครต้องการย้ายที่อยู่อาศัยไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยชั่วคราวที่ทางอำเภอจัดขึ้นให้หรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.แม่สาย และอื่นๆ ซึ่งทางอำเภอจะจัดเอาไว้ให้

เช่น หอประชุมที่ติดเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ โดยกลุ่มผู้ที่อพยพ คงจะเป็นกลุ่มผู้ที่อ่อนไหวต่อฝุ่นละอองและหมอกควัน เช่น ผู้ป่วย ผู้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เด็ก ฯลฯ และหากมีประชาชนย้ายมากทางจังหวัดก็จะได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินอันเกิดจากฝุ่นละอองและหมอกควันดังกล่าว และนำงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่อพยพชั่วคราวดังกล่าวต่อไป

**เตือนเด็กอนุบาลเสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง

ด้าน ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี ( นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อศึกษาวิจัยเรื่อง “การประเมินการรับสัมผัสสารมลพิษจากสิ่งแวดล้อมในเด็กนักเรียนอนุบาล” โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนอนุบาล อายุระหว่าง 5-6 ปี เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ในพื้นที่ที่มีจุดความร้อน (Hotspots) ซึ่งเก็บข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างจาก 3 อำเภอ ใน จ.เชียงใหม่ คือ อ.เชียงดาว 59 คน เป็นอำเภอที่มีจุดความร้อน เทียบกับ พื้นที่ไม่มีจุดความร้อน ได้แก่ อ.เมือง เชียงใหม่ 50 คน และ อ.สารภี 51 คน เพื่อหาสาร 1-โอเอชพี (1-Hydroxypyrene; 1-OHP) ในปัสสาวะ

ดร.ทิพวรรณ กล่าวว่า สาร 1-โอเอชพี เป็นสารบ่งชี้การรับสัมผัสสารพีเอเอช (Polycyclic aromatic hydrocarbons; PAH) ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นสารชนิดเดียวกับที่อยู่ในควันท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และไฟป่า โดยสารพิษเหล่านี้จะเกาะหรือจับตัวกันเป็นอนุภาคฝุ่นละออง และแขวนลอยในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายจากการหายใจ สารกลุ่มนี้มีหลายชนิดที่มีฤทธิ์เป็นสารก่อมะเร็งได้ โดยผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเด็กอนุบาลจาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีจุดความร้อนมากที่สุด พบนักเรียนมีค่าสาร 1-โอเอชพีเฉลี่ยสูงกว่าอีก 2 กลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดจุดความร้อน โดยสูงกว่าเด็กอนุบาลจากจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 7.4 เท่า และสูงกว่า เด็กอนุบาลจาก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ถึง 13 เท่า

ดร.ทิพวรรณ กล่าวว่า เมื่อสำรวจปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อระดับสาร 1-โอเอพี ได้ เช่น จำนวนครัว การเผาในที่โล่งใกล้บ้านหรือป่า หรือ พื้นที่เกษตรกรรม หรือ โรงงานอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่างใน อ.เชียงดาว มีปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าอีก 2 กลุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้ เมื่อสำรวจปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมที่จะมีผลต่อระดับสาร 1-โอเอชพี ได้ เช่น การสูบบุหรี่ การใช้ฟืนทำอาหาร วิธีการมาโรงเรียน ความถี่ในการเผาในที่โล่ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างใน อ.เชียงดาว มีความเสี่ยงมากกว่า อีก 2 กลุ่มถึง 2 เท่า ทั้งนี้พบว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณสาร 1-โอเอชพี ในเขตนอกเมืองสูงกว่าในเมือง เพราะประชาชนนิยมสุมกองไฟบริเวณบ้าน และก่อกองไฟเพื่อเผา หรือทำอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง

“ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของครอบครัวกลุ่มตัวอย่าง มีความสัมพันธ์กับการมีระดับสาร 1-โอเอชพี อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง จะส่งผลต่อสุขภาพในการการรับสารพิษในระยะยาวได้ โดยการวิจัยแม้ว่าจะเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก แต่สามารถชี้ได้ว่าปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรม ของประชากรที่อยู่นอกเมือง มีความเสี่ยงในการรับสารพิษพีเอเอช ได้มากกว่าประชากรในเมือง ดังนั้น ควรมีการให้ความรู้ประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่งเพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารพิษ” ดร.ทิพวรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น