xs
xsm
sm
md
lg

แนะยึดหลักบัญญัติ 10 ประการ ลดภาระใช้จ่ายยุคของแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักโภชนาการ สสส.-กรมอนามัย ห่วงอาหารแพงทำกินผิด ขาดสารอาหาร แนะวิธีลดค่าใช้จ่าย กินตามหลักบัญญัติ 10 ประการ ขานรับอาหารแพง ช่วยประหยัดเงิน-สร้างสุขภาพดี

นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากปัญหาราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องการซื้ออาหารเพิ่มมากขึ้น กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มคนรายได้น้อยที่ส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานหนัก อาจทำให้คนกลุ่มนี้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้ หรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีรายได้มากกว่า ก็อาจทำให้มีปัญหาเรื่องโภชนาการได้เช่นกัน เมื่อคำนวณค่าอาหารสำหรับ 1 คน รวม 3 มื้อต่อวัน หากรับประทานอาหารจานเดียว มีค่าใช้จ่าย 150 บาท ยังไม่รวมค่าอาหารของครอบครัว และค่าเดินทาง ซึ่งทำให้รายรับอาจจะไม่พอกับรายจ่าย บางส่วนอาจเลือกลดมื้ออาหารลง โดยเฉพาะมื้อเช้า ซึ่งเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน หรือรับประทานอย่างไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานแต่บะหมี่สำเร็จรูป ดังนั้น การเลือกบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และทำให้สุขภาพดีด้วย
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นายสง่า กล่าวว่า การปรับตัวในช่วงที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเพิ่มขึ้น ถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยมีวิธีปรับตัวง่ายๆ เรียกว่า บัญญัติ 10 ประการขานรับอาหารแพง ทำได้ดังนี้ 1.เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยประหยัดได้ถึงเดือนละ 4,000-5,000 บาท 2.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการกินโปรตีนพวกเนื้อสัตว์มากเกินไป 3.กินผัก ผลไม้ ตามฤดูกาลของไทย 4.ลดอาหารหวาน มัน เค็ม การปรุงรสเหล่านี้ ทำให้เพิ่มต้นทุนของอาหาร และอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว 5.เปลี่ยนของว่างจากขนมเค้ก เบเกอรี่ เป็นผลไม้ตามฤดูกาล 6.เลิกกินจุบจิบ 7.ไม่กินทิ้งกินขว้าง ทำแต่พอดี กินแต่พอดี 8.ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม น้ำหวาน 9.หาโอกาสปรุงอาหารกินเองที่บ้าน เพราะสามารถเลือกวัตถุดิบราคาประหยัด เช่น ผักตามฤดูกาล ปลา ถั่วเมล็ดแห้ง มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการสูง และ10.หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ทันที นอกจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ยังเป็นการรับประทานตามหลักโภชนาการที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

“ในภาวะของแพงทุกคนควรสำรวจพฤติกรรมการรับประทานของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย โดยควรทบทวนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น น้ำอัดลม กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และของหวาน ก็ให้ลดอาหารส่วนนี้ เพื่อมาซื้ออาหารที่มีประโยชน์ทดแทน โดยคำนึงถึงสารอาหารที่จะได้รับในแต่ละมื้อ ควรกินอาหารให้ครบ 5 มื้อ และต้องมีผักในปริมาณที่เหมาะสม” นายสง่า กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น