xs
xsm
sm
md
lg

แนะ 8 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากได้รับสาร “โทลูอีน” และ “โซเดียม ไฮโปคลอไรท์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ TCELS ห่วงใยสุขภาพประชาชนบริเวณนิคมฯ มาบตาพุด หลังเกิดเหตุระเบิดโรงงานและมีสารพิษรั่วไหล มอบ ศูนย์เวชศาสตร์ฯ ให้ความรู้เรื่องสารพิษ พร้อมแนะ 8 วิธีป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับสารพิษ “โทลูอีน” และ “โซเดียม ไฮโปคลอไรท์” ที่ลอยมาตามลม

จากเหตุการณ์ระเบิดโรงงานอุตสาหกรรม ที่นิคมอุตสาหกรรม มาบตามพุด จ.ระยอง ทำให้เกิดปัญหาสารพิษรั่วไหล ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวที่ต้องเผชิญกับสารเคมีในอากาศ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน จึงได้มอบหมายศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติแนะนำวิธีป้องกันตัวให้พ้นจากอันตราย โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฯ กล่าวว่า สารเคมีที่รั่วไหลออกมาจากโรงงานอุตสหากรรมมีอยู่หลายชนิดที่ก่อให้เกิดพิษร้ายถึงขั้นส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งมีทั้งพิษเฉียบพลันและพิษสะสม ส่วนลักษณะการเกิดพิษนั้น อาจแบ่งได้เป็นพิษเฉพาะที่กับพิษทั่วตัว ทั้งสองนี้อาจเกิดพร้อมกันได้ ทั้งนี้ เคมีพิษที่ลอยอยู่ในอากาศนั้น น่ากลัวที่สุดจะเป็นชนิดมาเงียบ คือ ไม่มีสีและไม่มีกลิ่นอย่างคาร์บอนมอนนอกไซด์ ที่ถือเป็นฆาตรกรเงียบที่น่ากลัว

“สำหรับตัวร้ายที่เพิ่งระเบิดที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด คือ โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ซึ่งเป็นสารฆ่าเชื้อ หรือใช้ฟอกขาวทำโซดาไฟ ก็ได้มีกลิ่นฉุนมาก หากสูดดมเข้าไปก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยจากการได้สารพิษมีชื่อเรียกว่า ท็อกซิโดรมส์ มาจากท็อกซินผนวกกับซินโดรมซึ่งผลของพิษที่ออกฤทธิ์ต่อสุขภาพคือ ระคายเยื่อบุอ่อน อาทิ เยื่อบุตา จมูก ช่องคอ ทางเดินหายใจ, เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ คออักเสบ, หลอดลมบวมตีบ หายใจไม่ออก, คลื่นไส้อาเจียน, วิงเวียนสับสน และอื่นๆ เช่น ฤทธิ์ต่อระบบประสาท,สมอง, ตับ, ไต, หัวใจและกล้ามเนื้อ” ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์ฯ กล่าว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นพ.กฤษดา กล่าวต่อว่า สารเคมีบางชนิดก็มีพิษเมื่อสูดดม, สัมผัสหรือเข้าหูเข้าตา หรือว่าบางชนิดจะอันตรายต่อเมื่อเข้มข้นมาก ที่พูดถึงกันมากในเวลานี้เห็นมีอยู่ 2 เคมี คือ “โทลูอีน (Toluene)” กับ “โซเดียม ไฮโปคลอไรท์(Sodium hypochlorite)” จึงอยากขอนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นของทั้ง 2 สารนี้ และวิธีที่เผื่อไว้ป้องกันสารพิษที่ลอยตามลม 8 วิธี คือ 1.ดูอวัยวะ คือ การดูทางพิษเข้า เช่น กลืนเข้าคอ, สูดเข้าจมูก, สัมผัสกับผิวหนัง หรือทางอื่นๆ เพราะแต่ละช่องทางการสัมผัสสารพิษจะเป็นตัวกำหนดการดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ถ้าเข้าคอก็ต้องกลั้วคอล้าง หรือเป็นหมอกควันพิษที่แสบหูแสบตาไปหมดก็ต้องล้างออกด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือปลอดเชื้อดังนี้ เป็นต้น 2.ผละให้ไว ไปยัง “Support zone” ที่จัดไว้ให้ไวที่สุด สารกลุ่มโซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นสารระเหยที่ลอยอยู่ในอากาศได้ จึงต้องรีบออกมาจากสถานที่เกิดเหตุนั้นโดยไว แต่ก็ต้องไม่ตระหนกจนเกินไป เพราะในความสับสนนั้นอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารนั้นมากยิ่งขึ้นได้

3.ให้ดูพิษ ถ้าเราทราบแหล่งที่มาของสารพิษนั้นด้วยได้จะดีเพราะเป็นข้อมูลที่บอกชนิดของพิษนั้นได้ว่าจะทำอันตรายกับอวัยวะใดของเราบ้าง การมีตัวอย่างสารพิษหรือมีข้อมูลโรงงานผลิตจะช่วยคุณหมอในการดูแลรักษาเบื้องต้นได้มาก 4.ไล่ตามปิด เมื่อทราบชนิดของพิษแล้วก็จะรู้ว่าอวัยวะที่เป็นเป้าใหญ่คืออะไร ให้มาพุ่งเป้าที่ส่วนนั้นๆ เช่น ไฮโปคลอไรท์ จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ คอเจ็บก็หาอุปกรณ์มาปิดตาปิดปากส่วนที่เสี่ยงเอาไว้ หรืออย่างโทลูอีนก็เป็นสารที่ระเหยได้ หรือเป็นของเหลวให้สัมผัสได้ก็ต้องหาเสื้อกันสารเคมีชนิดที่มิดชิดจะได้เลี่ยงสัมผัสเราง่าย 5.ทิศทางลม ใช้ได้กับสารระเหยที่เป็นเคมีลอยล่องอยู่ในอากาศรอบตัว โดยปกติถ้าเป็นก๊าซจะอยู่ได้ไกลถึง 600 เมตรในที่ลมสงบ แต่ถ้าลมแรงก็จะลอยไปไกลกว่านั้นมาก หากรู้ทิศแล้วจะได้หลบไว้ไม่ไปอยู่ใต้ลม เพราะเคมีบางชนิดก็เป็นก๊าซหนักจะลอยลงไปปกคลุมคนที่นอนอยู่ได้ เช่น กรณียูเนียนคาร์ไบด์ที่อินเดีย 6.ผสมน้ำ (Decontamination) การปฐมพยาบาลด้วยน้ำสะอาดยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้อยู่เสมอ หากแสบหูแสบตามาก ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ น้ำ หรือเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่าน ถ้าเปื้อนตามตัวให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนนั้นออกแล้วล้างน้ำให้มากเข้าไว้ จะช่วยให้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการสัมผัสเคมีพิษซ้ำสอง

7.ไม่ซ้ำอาเจียน สำหรับท่านที่เผลอกลืนเข้าไป การให้อาเจียนไม่ใช่ทางแก้ที่ดีนัก เพราะความตกใจอยู่แล้ว อาจทำให้สำลักลงปอดยิ่งพาให้สารนั้นเข้าปนเปื้อนในตัวเราหนักขึ้นถึงขั้นปอดอักเสบ หรือถ้าไม่สำลักสารก็มักขึ้นมาในหลอดอาหารอีกครั้งทำอันตรายขึ้นมาได้ซ้ำสองอีกครั้งหนึ่งได้ สุดท้าย คือ 8.พบแพทย์ เมื่อแก้เบื้องต้นแล้วให้รีบไปพบแพทย์ด้านพิษวิทยาเพราะจะเป็นผู้เชี่ยวชาญอาการพิษจากเคมีทั้งหลาย เมื่อไปหาแล้วให้ข้อมูลท่านละเอียดก็จะบอกได้ถึงชนิดของพิษนั้นและวิธีแก้หรือการส่งต่อไปพบแพทย์เฉพาะทางในแต่ละด้าน

อย่างไรก็ตาม สารพิษหลายชนิดทั้ง โซเดียม ไฮโปคลอไรท์หรือ โทลูอีน ก็ไม่ได้มียาต้านพิษ (Antidote) เฉพาะ แพทย์ก็ใช้การรักษาแบบประคับประคองไปเหมือนกับเรา ดังนั้น การจะหายหรือแย่จึงอยู่แค่ความแม่นของผู้ที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรงนั้นเท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น