สปสช.เพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ชู กรณีเด็กที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ได้รับสารตะกั่วเกินปริมาณที่กำหนดรับยาแล้วดีขึ้น
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้มีโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้า โดยเริ่มดำเนินการตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2553 โดยเริ่มแรก มีการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ 6 รายการ และเพิ่มอีก 4 รายการ รวมเป็น 10 รายการในปีต่อมา สำหรับ สปสช.ได้เข้ามามีบทบาทในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการจัดหา การสำรองยา การพัฒนาระบบ ให้ครอบคลุมผู้ป่วยทุกสิทธิและเน้นแนวคิดของการจัดการกลุ่มยาต้านพิษที่ต้องบริหารจัดการให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ สปสช.ได้ดำเนินการสำรองยาและการจัดส่งเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาทันที โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการผลิต เช่น สภากาชาดไทย โรงงานเภสัชกรรมทหาร และได้องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่ในการจัดหาและกระจายยา โดยมีศูนย์พิษวิทยาของ รพ.รามาธิบดี และ รพ.ศิริราช เป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้และตอบข้อซักถามทางวิชาการ ตลอดจนติดตามประเมินการสั่งใช้ยาต้านพิษจนจบการรักษา รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นศูนย์สำรองยาต้านพิษของประเทศด้วย
เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา จากกรณีพบว่ามีเด็กนักเรียน 16 คน ใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีอาการป่วยสงสัยว่าเกิดจากการได้รับสารพิษ เข้ารับการรักษาที่ รพ.อุ้มผาง ซึ่งหลังจากที่ได้ประสานงานปรึกษา ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า เป็นการได้รับพิษจากสารตะกั่ว กองทุนยาของ สปสช.ได้รับการประสานจากโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ได้ติดต่อขอเบิกยาซักซิเมอร์ (Succimer) เพื่อรักษาเด็กจำนวน 16 ราย ที่มีระดับตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตและเกิดทุพพลภาพโดยกรณีดังกล่าวมีความจำเป็นต้องการยามีจำนวนถึง 28 กล่อง และในวันต่อมา องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการส่งยาต้านพิษไปให้ รพ.อุ้มผาง ใช้รักษา และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยดังกล่าวจนหายเป็นปกติทุกราย ซึ่งการให้ยาต้านพิษตะกั่ว จะช่วยลดปริมาณตะกั่วในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดอาการพิษจากสารตะกั่ว โดยเฉพาะผลกระทบต่อพัฒนาการในเด็กเล็กลงได้
“จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยที่ได้รับพิษนั้นต้องได้รับยาต้านพิษอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การที่ สปสช.มีโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้า และมีกลุ่มยาต้านพิษ 10 รายการ ช่วยแก้ปัญหานี้ และใช้ได้กับประชาชนทุกคนไม่เฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองเท่านั้น ขณะเดียวกัน กรมคมบคุมโรค ก็ได้ทำการตรวจหาแหล่งปนเปื้อนสารตะกั่วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้อีก เป็นการคัดกรอง และให้ยาที่ทำควบคู่กับการหาแหล่งก่อการปนเปื้อน และลดการสัมผัสกับแหล่งดังกล่าวด้วย นับเป็นการทำงานแบบบูรณาการ โดยให้หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญในแต่ละภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุม และป้องกันการรับสารพิษซ้ำในพื้นที่ได้” นพ.วินัย กล่าว