สปสช.เพิ่มยาต้านพิษปี 54 อีก 4 รายการ สำหรับผู้ป่วยได้รับพิษโบทูลินัม ท็อกซิน จากการรับประทานหน่อไม้ปี๊บ เนื้อดิบ ถั่วเน่า ยารักษาภาวะพิษจากดิจ็อกซิน หลังจากมีมติบริหารจัดการสำรองยาต้านพิษในปี 53 ที่สำรองยาต้านพิษ 6 รายการ โดยใช้แนวทางบริหารจัดการยา สำรองยา และกระจายยา เพื่อให้ รพ.ที่จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อให้การรักษาได้รับยาทันต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วย ระบุ มี รพ.เข้าร่วมเป็นหน่วยสำรองยาต้านพิษกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขปัญหายากำพร้าในกลุ่มต้านพิษ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในกรณีฉุกเฉินอย่างทันท่วงที และยังไม่มีระบบการสำรองและกระจายยาเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับสารพิษในทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษได้ทันการ จำนวน 6 รายการแล้วนั้น และได้มีการวางแผนประมาณการความต้องการยา การจัดหายาจากแหล่งผลิตภายในประเทศ และต่างประเทศ การบริหารจัดการการสำรองยา จัดหาและกระจายยา โดยมีความร่วมมือจากองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดหา สภากาชาดไทยให้ความร่วมมือในการผลิตยาบางรายการ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการหลากหลาย อาทิเช่น ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ศูนย์พิษวิทยา รพ.ศิริราช และสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เป็นต้น
เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า หลักการในการบริหารจัดการกลุ่มยาต้านพิษ คือ 1.ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ซึ่งจัดการโดยใช้ระบบการตัดจ่ายทางบัญชี ทั้งผู้ป่วยผู้ได้รับพิษในกรณีที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ประชาชนทั่วไป เช่น ในกรณีเกิดไฟไหม้ หรืออุบัติเหตุในครัวเรือน ประชาชนได้รับสารพิษ หรือเป็นโรคจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม รวมถึงชุมชนในเขตนิคมอุตสาหกรรม 2.บริหารจัดการบนเว็บไซต์ (Web-based Administration) มีการสืบค้นแหล่งสำรองยาเชื่อมต่อกับระบบ GIS (Geographic information system) ซึ่งทำให้สามารถสืบค้นแหล่งสำรองยาในรูปแบบของแผนที่ทางภูมิศาสตร์ แสดงการสำรองยาแบบออนไลน์ (Stock online) แสดงสถานะการสำรองยาที่เป็นปัจจุบัน (real time) เชื่อมโยงกับระบบ VMI ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งให้ผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้บริหารคลังสินค้าแทนลูกค้า และ 3.เบิกยาโดยไม่มีข้อจำกัดเขตพื้นที่ ผลจากการดำเนินงานทำให้เกิดการกระจายยาไปยัง หน่วยสำรองยา ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 107 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้พบว่า มี รพ.เข้าร่วมเป็นหน่วยสำรองยาต้านพิษ100 แห่ง ซึ่งเป็นการรับประกันว่า ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจะได้รับยาต้านพิษอย่างทันการ ส่งผลถึงอัตราการรอดชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า นอกจากนี้ ในปี 2554 ยังได้เพิ่มจำนวนยาต้านพิษอีก 4 รายการ เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ดังนี้ 1.โบทูลินัม แอนตีท็อกซิน (Botulinum antitoxin) สำหรับรักษาผู้ป่วยได้รับพิษจากโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ซึ่งเป็นพิษจากการรับประทานอาหารประเภทหน่อไม้ปี๊บ เนื้อดิบ ถั่วเน่า 2.ดิพทีเรีย แอนตีท็อกซิน (Diphtheria antitoxin) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคคอตีบ 3.ดีจ็อกซิน สเปซิฟิค แอนตีบอดี้ แฟร็กเมนท์ (Digoxin-specfic antibody fragment inj.)
สำหรับรักษาภาวะเป็นพิษจากดีจ็อกซิน (Digoxin) และพืชที่มีคาร์ดิแอค ไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside) เช่น รำเพย และ 4.แคลเซียม ไดโซเดียม อีดีเตท(Calcium disodium edetate) สำหรับรักษาภาวะเป็นพิษจากโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สังกะสี แมงกานีส เป็นต้น