สปสช.ใช้ระบบบริหารจัดการกลุ่มยาและวัคซีนแนวใหม่ เพื่อผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นราคาแพงและวัคซีนได้ถ้วนหน้า เผย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 49 เพื่อส่งเสริมผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงยาต้านไวรัส ก่อนขยายไปยังยาวัณโรค ยา จ.2 ยาราคาแพง ยาจิตเวช ยากำพร้า หวังให้ประชาชนเข้าถึงยา และเพื่อให้หน่วยบริการบริหารจัดการง่ายขึ้นซึ่งจะทำให้คนป่วยได้เข้าถึงยาราคาแพงโดยเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินการยุทธศาสตร์ด้านยาและวัคซีนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2554 มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุม 10 กลุ่ม ซึ่งเป็นการจัดระบบเฉพาะเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นและที่ผ่านมามีปัญหาในการเข้าถึง ประกอบด้วย 1.ยาบัญชี จ.2 ซึ่งมีราคาแพงแต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ 2.ยาจิตเวช คือ ยาริสเพอริโดน รักษาโรคจิตเภท และยาเซอร์ทราลีน รักษาโรคซึมเศร้า 3.ยากำพร้ากลุ่มต้านพิษ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม 4.ยาโคลพิโดเกรล สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ 5.ยา deferiprone (GPO-L1) ยาขับเหล็กสำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย 5.วัคซีนพื้นฐานสำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 6.วัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดตามฤดูกาล 7.ยาต้านไวรัสเอชไอวี 8.ยาต้านวัณโรค 9.ยาโอเซลทามิเวียร์ สำหรับโรคไข้หวัดนก
เลขาธิการฯกล่าวว่า ยาและวัคซีนทั้ง 10 กลุ่มนั้น สปสช.ได้ดำเนินการในลักษณะการบริหารจัดการเฉพาะ เพื่อให้หน่วยบริการมียารองรับในการใช้กับผู้ป่วยอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น และหน่วยบริการไม่ต้องเสียเวลากับการบริหารจัดการดังกล่าว โดยสปสช.เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยการการจัดตั้งกองทุนเอดส์ การบริหารจัดการเฉพาะผู้ป่วยวัณโรค การจัดทำบัญชียา จ.2 เพิ่มการเข้าถึงยาจิตเวช และเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ เป็นต้น
เภสัชกรหญิงเนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การบริหารจัดการยาและวัคซีน 10 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น ล้วนมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นยาราคาแพง หรือกลุ่มยาที่มีผู้ใช้น้อย แต่มีความจำเป็นต้องใช้ รวมถึงกรณีโรคระบาดต่างๆด้วย ซึ่งการจัดระบบนี้ สปสช.ออกแบบให้หน่วยบริการสามารถจัดการได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้านั่นเอง