กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนไม่ควรเดินทางไปมุงดูเพลิงไหม้พื้นที่โล่ง ใน อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เน้นย้ำค่าก๊าซที่เกินมาตรฐาน ยังไม่พบประชาชนได้รับอันตรายรุนแรง แนะนำให้อยู่เหนือลมและห่าง 500 เมตรขึ้นไป จัดส่งทีม SRRT ดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิด
จากกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้พื้นที่โล่ง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เพื่อการป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที และเพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งการให้สถานพยาบาลในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์การป่วย โดยส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยของประชาชน ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนครไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ (27 เม.ย.) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการตรวจพบเพลิงไหม้พื้นที่โล่ง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กรมควบคุมโรคได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนครไทย เข้าไปสอบสวนหาสาเหตุและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผลการสอบสวน พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้ว 2 สัปดาห์ โดยบริเวณเกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งกว้าง มีลักษณะเป็นหลุมคันนา เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่หมู่ 9 บ้านโนนตาโพน ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยพื้นที่ใกล้เคียงที่ห่างออกไป ประมาณ 500 เมตร มีชุมชนอาศัยอยู่ประมาณ 20 ครัวเรือน
ซึ่งพบว่า บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของเตาเผาถ่านจำนวน 3 เตา ที่ตั้งอยู่กับโรงเลื่อยแห่งหนึ่งที่รับสัมปทานตัดไม้ในเขต อ.นครไทย จะรับไม้จากโรงเลื่อยมาเผาถ่านบริเวณนี้ แต่โรงเลื่อยและเตาเผาถ่านได้เลิกกิจการไปแล้วได้ 30 ปี จากนั้นก็กลายเป็นที่นา และพบว่า ลึกลงไปใต้ดินไม่มากมีขี้เลื่อยสะสม กินพื้นที่ประมาณ 15X40 เมตร หนาประมาณ 2 เมตร เมื่อเวลาผ่านไปก็มีตะกอนดินไหลลงมาทับถมปิดด้านบน เมื่อขี้เลื่อยดังกล่าวถูกหมักหมมเป็นเวลานาน ประกอบกับอากาศร้อนจัดจึงเกิดติดไฟลุกขึ้นมา
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบ คือ ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บไฟลวก 4 คน และมีสัตว์เลี้ยงตาย นอกจากนี้ ในรัศมี 500 เมตร ยังมีบ้านเรือนและโรงเรียนตั้งอยู่ ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนการตรวจวัดก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศ พบว่าในวันแรก (25 เม.ย.) มีก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้ ก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟล์ ตรวจพบรอบหลุมไฟอยู่ที่ 23 ppm เกินค่ามาตรฐานทั่วไปที่ 20 ppm ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตรวจพบ 6.7 ppm ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.12 ppm ตรวจพบมากกว่าค่ามาตรฐาน 55 เท่า และก๊าซมีเทน มีปริมาณที่น้อยมาก ล่าสุด การตรวจวัดก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศวันที่สอง (26 เม.ย.) ก๊าซทั้งสองชนิดที่เกินค่ามาตรฐานในวันแรกพบว่ามีปริมาณลดลง โดยก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟล์พบต่ำกว่าค่ามาตรฐานแล้ว ส่วนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก็พบว่า ลดลงจากวันแรกเช่นกัน แม้จะยังเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ 3.56 ppm สำหรับอาการโดยทั่วไปของผู้ที่สัมผัสกับก๊าซจะมีลักษณะแตกต่างกันตามชนิด และปริมาณของก๊าซ ซึ่งมอบหมายให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) กรมควบคุมโรค คอยติดตามและเฝ้าระวังอาการที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนที่มามุงดูหรืออยู่ใกล้บริเวณเกิดเหตุอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่าประชาชนได้รับอันตรายรุนแรงจากการสัมผัสกับก๊าซดังกล่าวแต่อย่างใด
“กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้อยู่ห่างจากพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 500 เมตรขึ้นไป หลีกเลี่ยงการสูดดมก๊าซ และพยายามอยู่เหนือลม ที่สำคัญ ต้องไม่ไปมุงดูในพื้นที่เกิดเหตุ รวมถึงประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ก็ไม่ควรเดินทางไปดูสถานที่ดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือเรื่องที่น่าเข้าไปมุงดู เพราะอาจสูดดมหรือสัมผัสกับก๊าซได้ ควรอยู่ให้ห่างพื้นที่ให้มากที่สุด นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเพิ่มเติมกับผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาและน้ำบาดาล รวมทั้งประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ให้นำป้ายและเชือกมากั้น รวมถึงการจัดเวรยามเฝ้าระวังประชาชนไม่ให้เข้าไปใกล้ในระยะอันตรายด้วย หากประชาชนสงสัยอาการของโรคจากการสัมผัสก๊าซสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0 2590 3333” ดร.นพ.พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย