“วิทยา” สั่งจับตาโรคผิวหนังที่ระบาดในเวียดนาม หลังคร่าชีวิตชาวเวียดนามแล้ว 19 ราย ระบุ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เร่งประสานงานขอข้อมูล จาก WHO ขณะเดียวกัน ได้สั่งโรงพยาบาลเฝ้าระวังผู้ป่วย หากพบส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคและเคลื่อนที่เร็ว ควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในไทย
จากกรณีที่มีรายงานข่าวพบการป่วยด้วยโรคผิวหนังอย่างผิดปกติมานานกว่า 1 ปี ที่จังหวัดกวางงาย ในประเทศเวียดนาม ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน มีผู้ติดเชื้อประมาณ 170 ราย เสียชีวิต 19 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และในช่วง 27 มีนาคม - 5 เมษายน 2555 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย อาการผู้ป่วยจะมีผื่นตามผิวหนังที่แขนและขา บางรายอาการรุนแรง โดยมีการอักเสบของตับและอวัยวะอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ทางการของเวียดนามยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของโรคได้ชัดเจน จึงได้ติดต่อขอการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อค้นหาสาเหตุและกำหนดวิธีการควบคุมโรค
วันนี้ (23 เม.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ในประเทศเวียดนามอย่างใกล้ชิด โดยประสานกับองค์การอนามัยโลก ศูนย์ป้องกันควบคุมโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้รับผิดชอบของทางการเวียดนาม เพื่อการป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที และเพื่อความไม่ประมาท ได้ให้สถานพยาบาลทั่วประเทศ เฝ้าระวังสถานการณ์การป่วย หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยในประเทศเวียดนาม ให้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคและเคลื่อนที่เร็ว เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด
ด้านนพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การป่วยของเวียดนาม ในปี 2554 ตลอดทั้งปีมีผู้ป่วย 150 ราย พบผู้ป่วยมากในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เสียชีวิต 12 ราย ในปีนี้มีผู้ป่วย 63 ราย เสียชีวิต 7 ราย รวม 2 ปีมีผู้ป่วย 213 ราย เสียชีวิต 19 ราย ซึ่งโรคนี้ยังมีการเจ็บป่วยเฉพาะพื้นที่ ฉะนั้น ประชาชนจึงไม่ต้องวิตกกังวล โดยกรมควบคุมโรคได้เรียกประชุมผู้ทรงคุณวุฒิของกรม เพื่อประเมินสถานการณ์และการเฝ้าระวังในประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายทางระบาดวิทยา ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ไทยยังไม่พบรายงานผู้ป่วยที่มีลักษณะเช่นที่เวียดนามแต่อย่างใด
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า จากการประเมินความเสี่ยงโอกาสการแพร่กระจายของโรค พบว่า เมืองกวางงาย (Quang Ngai) อยู่ทางภาคกลางของประเทศเวียดนาม เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ได้เป็นแหล่งและเส้นทางการท่องเที่ยว โดยโรคผิวหนังดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจจะเกิดจากโรคติดเชื้อ หรือไม่ใช่โรคติดเชื้อก็ได้ ต้องรอผลการสอบสวนโรคของทางเวียดนาม ซึ่งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอาจน้อยกว่านี้
“อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามข้อมูลและสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และจะออกคำแนะนำเพิ่มเติม รวมถึงรายงานข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นเป็นระยะๆ ต่อไป ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและสื่อมวลชนเป็นระยะ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 กรณีประชาชนที่ต้องการเดินทางไปประเทศเวียดนามในขณะนี้ สามารถเดินทางไปได้ตามปกติ โดยหากเดินทางไปจังหวัดกวางงาย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการเวียดนาม” นพ.พรเทพ กล่าว