xs
xsm
sm
md
lg

มือเท้าปากระบาดหนักในเวียดนาม ไทยเฝ้าระวังเข้มในเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เผย ปี 55 ไทยต้องเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก หลังพบเวียดนามระบาดหนัก 70,000 ราย ขณะไทยยังนิ่ง 1.6 พันราย แต่ยังวางใจไม่ได้ ต้องเข้มระบบป้องกัน

วันนี้ (4 ม.ค.) นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เนื่องจากมีรายงานพบการระบาดต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง จีน ไต้หวัน และ เวียดนาม ซึ่งล่าสุดมีรายงานพบเด็กในประเทศเวียดนาม ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก กว่า 70,000 ราย ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดเท่าที่เคยพบการระบาดในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับประเทศไทยเองแม้จะมีการระบาดของโรคน้อยกว่าประเทศใกล้เคียงที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน แต่จากการเฝ้าระวังในปี 2554 ก็ยังพบผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ถึง 1,649 ราย คิดเป็น 26.7 ต่อแสนประชากร ในจำนวนนี้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งพื้นที่ที่พบการระบาดด้วยโรคดังกล่าวมากที่สุดของประเทศไทย คือ พื้นที่ภาคเหนือ รองลงมา คือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ สิ่งที่น่าห่วง คือ การเป็นประเทศท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกบวกกับปัจจัยด้านการคมนาคมที่สะดวก รวดเร็ว ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศได้ง่าย ซึ่งความแออัดที่เกิดขึ้นทำให้ง่ายต่อการระบาดของโรค จำเป็นจะต้องเฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือ เอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ช่วงฤดูฝน ที่อากาศเย็น และชื้น เป็นช่วงที่พบการระบาดมากที่สุด โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง ระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีไข้ 3-6 วัน จากนั้นจะเริ่มมีอาการเจ็บปาก และแสดงอาการแสดงในหลายระบบ เช่น ระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการเหมือนไข้หวัด ไอ มีน้ำมูกใส เจ็บคอ, ทางผิวหนัง จะมีรอยตุ่มแดงขึ้น, ทางระบบประสาท อาจมีอาการสมอง เยื่อหุ้มสมอง หรือ เนื้อสมองอักเสบ, ทางระบบทางเดินอาหาร อาจเกิดอาการท้องเสีย ร่วมกับปวดหัว และอาเจียน, ทางตา มักพบเยื่อบุตาอักเสบ และ ทางหัวใจ สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ โรคนี้หากไม่มีอาการแทรกซ้อนก็สามารถหายเองได้ แต่ทางที่ดีผู้ปกครองที่มีเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ควรพาเด็กไปพบแพทย์ แยกเด็กป่วยไม่ให้ร่วมกิจกรรมกับเด็กอื่น และทำความสะอาดสิ่งของทุกอย่างที่เด็กต้องสัมผัส ทั้งพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น เสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย” นพ.ภาสกร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น