xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : 3 มาตรการ สู้ภัยหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในทุกๆ ปีจะมีผู้ป่วยจากภัยหนาวจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติดังกล่าวด้วย ซึ่งในปีนี้หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ฤดูหนาว กรมควบคุมโรค จึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะจากสภาวะอากาศเช่นนี้ อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ แทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ต้องระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรค ซึ่งมักพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว 6 โรค ตามประกาศกรมควบคุมโรค ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่แห้ง เช่น โรคผิวหนัง และการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยภัยหนาว เป็นต้น

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 - มีนาคม 2554) พบว่า ในพื้นที่ประสบภัยหนาวตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งหมด 38 จังหวัด 522 อำเภอ มีรายงานผู้ป่วยโรคที่เฝ้าระวัง 6 โรค ทั้งหมด 89,730 ราย มากสุดคือโรคอุจจาระร่วง 70,785 ราย รองลงมาคือโรคปอดบวม 8,382 ราย โรคสุกใส 5,409 ราย โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ 5,001 ราย โรคหัด 141 ราย และโรคหัดเยอรมัน 12 ราย ตามลำดับ

กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำประชาชนใน 3 มาตรการ คือ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด

• รู้เตรียม
คือ รู้จักเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว

- 5 สิ่งควรเตรียม ได้แก่ เตรียมเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว เตรียมยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็น เตรียมของใช้ที่จำเป็นในครัวเรือน ฟังข่าวประกาศเตือนภัยหนาว และประชากรกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุกปี

• รู้ระวัง คือ รู้จักระวังสิ่งที่อยู่รอบตัวที่อาจก่อให้เกิดโรคและภัยสุขภาพ ประกอบด้วย

- 5 สิ่งควรทำ ได้แก่ รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาความชุ่มชื้นของร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเพิ่มพลังงาน เมื่อเจ็บป่วยให้รีบมาพบแพทย์

- 5 สิ่งไม่ควรทำ ได้แก่ ดื่มสุราเพื่อแก้หนาว นอนในที่โล่งแจ้งลมโกรก ผิงไฟในที่อับอากาศ นำเด็กเล็กเข้าใกล้ควันไฟ และคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

• รู้สะอาด คือ รู้จักรักษาความสะอาดในตัวเอง

- 5 สิ่งควรสะอาด
ได้แก่ ทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ล้างมือให้สะอาด มีสุขอนามัยที่ดี และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเจ็บป่วย

หากเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และถ้ามีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3333

• เทคนิคการทำ "เสื้อพิชิตภัยหนาว"

โดยปกติแล้วร่างกายของมนุษย์จะสร้างความร้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง จากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และจะมีการระบายความร้อนออกจากร่างกายตลอดเวลา หากเรากักเก็บหรือชะลอความร้อนนั้นไว้กับร่างกายได้ก็จะทำให้ร่างกายอบอุ่น

ดังนั้น จากหลักการนี้จึงขอให้คำแนะนำกับประชาชนที่ประสบภัยหนาวเย็นจัด สามารถทำ “เสื้อพิชิตภัยหนาว” ขึ้นใช้เองโดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ใส่เสื้อยืดหนาแขนยาวที่ประชาชนมีอยู่แล้ว หรือจัดหามาใหม่ ห่อหุ้มร่างกายชั้นแรก

2. นำแผ่นพลาสติกบาง เช่น เสื้อกันฝนพลาสติก มาสวมทับห่อหุ้มเสื้อแขนยาวด้านในอีกชั้น เพื่อลดหรือชะลอการระบายความร้อนของร่างกายออกไป

3. จากนั้นสวมทับเสื้อกันฝนพลาสติกด้วยเสื้อแขนยาวหรือเสื้อแจ๊คเก็ตหนาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เสื้อกันฝนอยู่ชั้นกลาง


เพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ข้างต้น อุณหภูมิในร่างกายก็จะคงที่ ผู้ประสบภัยหนาวจะได้รับความอบอุ่นตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง เหงื่อสามารถระบายได้ระดับหนึ่ง และดูภายนอกก็เรียบร้อยดีสวยงามอีกด้วย

(สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น