xs
xsm
sm
md
lg

เตือนระวัง 6 โรคมาพร้อมลมหนาว ป่วยแล้ว 89,000 ราย โรคอุจจาระร่วงมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรคเตือนระวัง 6 โรคมาพร้อมลมหนาว โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก หลังพบรายงานพื้นที่ประสบภัยหนาว 38 จังหวัด มีรายงานผู้ป่วยโรคที่เฝ้าระวัง 6 โรคกว่า 89,000 ราย มากสุดคือโรคอุจจาระร่วง กว่า 70,000
วิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.
วันนี้ (30 พ.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในทุกๆ ปีจะมีผู้ป่วยจากภัยหนาวจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติดังกล่าวด้วย ซึ่งในปีนี้หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว การป้องกันโรคในฤดูหนาวปีนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากภัยหนาว รวมถึงเน้นมาตรการป้องกันโรคติดต่อในพื้นที่ประสบภัยหนาว โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ประชาชนทั่วไปก็ต้องระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่แห้ง เช่น โรคผิวหนังแห้ง แตก คัน และอักเสบ รวมทั้งกลากและเกลื้อน จากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาว 6 โรค ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่แห้ง เช่น โรคผิวหนัง และการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยภัยหนาว เป็นต้น จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2553-เดือน ต.ค. 2554) พบว่า ในพื้นที่ประสบภัยหนาวตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งหมด 38 จังหวัด 522 อำเภอ มีรายงานผู้ป่วยโรคที่เฝ้าระวัง 6 โรค ทั้งหมด 89,730 ราย มากสุดคือ โรคอุจจาระร่วง 70,785 ราย รองลงมาคือ โรคปอดบวม 8,382 ราย โรคสุกใส 5,409 ราย โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ 5,001 ราย โรคหัด 141 ราย และโรคหัดเยอรมัน 12 ราย ตามลำดับ

“ในช่วงฤดูหนาวปีนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังภัยหนาวไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุก (สสจ.) ทุกแห่ง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมเตรียมภารกิจหลักในการดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหนาว อาทิ การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ประสบภัยหนาว การควบคุมโรค และการ สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด”นพ.พรเทพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น