กมธ.สธ.หวั่นโรคหลังน้ำท่วม จี้ทำลายขยะเร็วที่สุด ไม่ให้เป็นแหล่งรังโรค ห่วงสารปนเปื้อนจากน้ำปะปนในสิ่งแวดล้อม เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร วอนรัฐบาลสร้างระบบเฝ้าระวังครบวงจร
รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง วุฒิสภา กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หลังเหตุการณ์อุทกภัย เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือถึงแนวทางในการดูแลสุขภาพคนไทยในระหว่างนี้ ซึ่งที่ประชุมมีความเป็นห่วงในหลายประเด็นด้วยกัน เพราะนอกจากน้ำท่วมจะสร้างความเสียหายให้บ้านเรือนแล้ว สิ่งที่มากับน้ำยังมีการปนเปื้อนทั้งสารเคมี เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งระยะเวลาที่น้ำท่วมเป็นเวลานาน ทำให้สารปนเปื้อนที่อยู่ในน้ำมีโอกาสตกตะกอนและตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร เสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตร และเข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ในที่สุด นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่เกิดความเปลี่ยนแปลงยังทำให้มีโอกาสเกิดเชื้อใหม่ๆ เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อเดิม ที่อาจเป็นอันตรายขึ้นอีกด้วย
รศ.พญ.พรพันธุ์กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกอย่างรวดเร็ว คือ การกำจัดขยะที่ยังตกค้างในสิ่งแวดล้อมให้หมดไปอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งเฉพาะในพื้นที่กทม.พบว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ปริมาณขยะเพิ่มอีก 7 เท่า โดยกทม.ยืนยันว่าจะยังสามารถจัดการได้ ส่วนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ พบว่าการจัดการขยะถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน เพราะขยะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเชื้อโรคต่างๆขึ้นได้ ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการสร้างเฝ้าระวังทั้งระบบ ทั้งตรวจวัดค่าความปนเปื้อนในดิน น้ำ อาหาร พืช ผัก ในสัตว์ และคน เพื่อหาทางป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดจากสารตกค้างได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมถึงเพิ่มเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังให้มากกว่าสถานการณ์ปกติ
“จะมีการนำเสนอข้อคิดเห็นและประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการผ่านที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้รัฐบาลตระหนักถึงการแก้ปัญหาหลังน้ำลด กำหนดบทบาทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่นร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการเฝ้าระวังจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในระบบเกษตรกรรม จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานและมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนไปใน ผลผลิต สัตว์เลี้ยง และกลับมาสู่คนในที่สุด”รศ.พรพันธุ์กล่าว
รศ.พญ.พรพันธุ์กล่าวต่อว่า สำหรับคำแนะนำให้ประชาชนหลังน้ำลด ขณะนี้ได้ประสานให้กรมมลพิษ เร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายเพิ่ม เช่น การทำความสะอาดบ้าน หากมีการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง หรือ ใช้สารเคมีมากเกินไป หรือทำลายเชื้อราไม่ได้ก็อาจเกิดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคขึ้นได้ โดยเฉพาะเชื้อรา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้ทั้งผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ สำหรับการเฝ้าระวังโรคติดต่อ ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งอุณหภูมิที่ต่ำลงทำให้เชื้อโรคขยายตัวได้ดีขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะโรคจากสัตว์สู่คน เช่น หวัดนก ที่มักพบในช่วงฤดูนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบหวัดนกติดต่อกันเป็นเวลานานแต่ก็ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวัง