หลังน้ำลด อะไรต่อมิอะไรก็ผุดขึ้นมาให้เห็น สิ่งหนึ่งที่เห็นและส่งกลิ่นให้ได้รับรู้ คงหนีไม่พ้น 'ขยะ'
สิ่งที่ตามมาก็คือ ‘บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์’ ที่ถูกจัดขึ้นตามแต่ละพื้นที่เพื่อฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม ทุกคนพร้อมใจกันออกมาทำความสะอาด ต้อนรับความรู้สึกของการกลับบ้านเพื่อคืนสู่ภาวะปกติ
ทว่า การจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทยนั้น แท้จริงเป็นปัญหาที่หมักหมมมาอย่างช้านาน นานเสียจนราวกับว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป
ตั้งแต่ปัญหาในส่วนของประชาชนในด้านของการคัดแยกขยะ ไปจนถึงรัฐบาลในด้านของการวางนโยบาย ตลอดจนการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน
มาถึงตอนนี้ กับขยะกองโตหน้าบ้านหลังน้ำลด ยิ่งจะส่งกลิ่นเหม็นจากการหมักหมมที่เกิดขึ้น ปัญหาการจัดการขยะที่ไม่เคยได้มองเห็น และทำความเข้าใจกับประชาชนในด้านของหลักการ มาตรการรับมือขยะน้ำท่วมครั้งนี้ คงไม่ใช่ร่วมใจกันออกมารวมตัว แล้วขัดพื้นเสียเท่านั้น
ขยะกองโตเหล่านี้คงมีคำถามเกิดขึ้นในใจใครหลายคนบ้างว่า มันจะไปไหน? จะจัดการกับขยะกองโตเหล่านี้อย่างไร? ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นล่ะ?
มาบัดนี้ คงถึงเวลาที่สังคมไทยควรจะหันมามองปัญหานี้อย่างจริงจังกันได้แล้ว
ปัญหาของขยะปกติ กับกองขยะช่วงหลังน้ำลด
ในสภาวะปกติ ขยะเป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทั้งเรื่องของความสกปรก การส่งกลิ่นเหม็น ทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของพาหะนำโรค ทั้งหนู แมลงวัน และแมลงสาบ ซึ่งปริมาณขยะแต่ละวันของกรุงเทพฯ นั้น มีมากถึง8,500 ตัน ส่งผลให้การเก็บขยะไม่ทั่วถึง และอาจทำให้มีขยะตกค้างจนเป็นปัญหาเกิดขึ้นแก่หลายครัวเรือน ยิ่งเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่มีการบริโภคและการผลิตขยะกันขึ้นมาอย่างมากล้นด้วยแล้ว
กัญญาณัฐ โชติเสรีวิทย์ ผู้อาศัยอยู่ในเขตพระนคร ซึ่งเคยประสบกับปัญหาขยะตกค้าง เอ่ยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวว่า สามารถจัดการได้แม้จะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย
“ขยะที่บ้านจะใส่ถังตั้งไว้หน้าบ้าน เพื่อสะดวกเวลารถขยะมาเก็บ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมาเก็บทุกวัน แต่มีบ้างที่รถเก็บขยะไม่ได้มา ซึ่งจะทำให้ขยะล้นออกมาจากถังส่งกลิ่นเหม็นบ้าง”
บอกได้ว่าโดยรวมแล้ว ปัญหาเรื่องของการจัดการขยะในภาวะปกติอาจไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนักต่อชีวิตประจำวัน และถูกมองว่าไม่ได้เป็นปัญหาที่ต้องเร่งด่วนแก้ไข ทว่าหลังจากที่น้ำลดปัญหาของขยะก็ดูจะเพิ่มมากขึ้น อันเป็นอุปสรรคหนึ่งของภาครัฐในช่วงนี้ ระวีวรรณ สุขพงษ์ไทย ผู้ประสบภัยย่านรังสิตคลอง 4 เป็นคนหนึ่งที่ต้องประสบปัญหาขยะหลังน้ำลดเล่าถึงปริมาณขยะที่มากล้นและเป็นปัญหาว่า ปริมาณมีมากจนรถขยะที่เข้ามาเก็บเท่าไหร่ก็คงไม่หมด
“แต่ก่อนเทศบาลก็มาเก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่หลังน้ำท่วมก็เหลือแค่อาทิตย์ละครั้ง แต่ขยะมันเยอะมากเก็บเท่าไหร่ก็เก็บไม่หมด คนก็เอามาทิ้งเรื่อยๆ แล้วก็มีพวกเก็บขยะมารื้อ มาคุ้ย พอรื้อเสร็จเขาก็ไม่เก็บ ขยะมันก็กระจายออกไปในถนน ยิ่งขยายพื้นที่ของขยะมากขึ้น จนตอนนี้ รถราขับเข้ามาลำบากมาก จะเดินทางไปไหนก็ไม่สะดวก แต่ยังโชคดีหน่อยที่ตอนนี้กลิ่นขยะไม่เหม็นมาก เพราะส่วนมากขยะเป็นขยะที่แห้งแล้วอย่าง กิ่งไม้ ตู้”
ไม่แปลกที่ใครๆ ก็อยากทำให้บ้านของตัวเองสะอาดให้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีการก็คือเอาขยะที่เกิดจากน้ำท่วมในบ้านของตัวเองออกมาทิ้งนอกบ้านให้เร็วที่สุด สิ่งของเสียหายที่กลายเป็นขยะมีตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ความสะอาดในบ้านของเราเองนั้นก็ต้องแลกเปลี่ยนกับความสกปรกที่เกิดขึ้นนอกบ้าน ในที่สาธารณะด้วย
โมเดลการจัดการขยะ
ในแวดวงการจัดการขยะนั้น ประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นตัวอย่างของระบบการจัดการขยะที่ดีก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยรูปแบบการจัดการโดยใช้การคัดแยกตั้งแต่ต้นทางโดยประชาชน ประกอบกับการสื่อสารและการวางกฎเกณฑ์ของรัฐ พร้อมด้วยอุปนิสัยที่เอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมของคนญี่ปุ่น ไม่ต้องแปลกใจที่ตามตึกรามบ้านช่องของชาวญี่ปุ่นจะสะอาดเป็นพิเศษ
โดยระบบการจัดการขยะของประเทศญี่ปุ่น ประชาชนจะถือปฏิบัติกัน ตั้งแต่การคัดแยกขยะเป็นประเภท ซึ่งมีกำหนดเป็นประเภท ขยะเผาได้, ขยะเผาไม่ได้, ขยะอันตราย (หรือขยะมีพิษ), ขยะขนาดใหญ่, ขยะรีไซเคิล และขยะพิเศษที่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่มารับ โดยขยะแต่ละประเภทนั้นก็มีกฎเกณฑ์ในการทิ้งที่แตกต่างกันไปอีก ตัวอย่างเช่น ขยะเผาได้จะต้องทิ้งโดยบรรจุในถุงขยะเนื้อหนาขนาด 2-3 ลิตร หากเป็นขยะเผาได้ใหญ่เกินกว่าจะบรรจุในถุงประเภทนี้ จะถือว่าเป็นขยะขนาดใหญ่ หรือขยะเผาไม่ได้จะต้องทิ้งโดยบรรจุใส่ถุงขยะเผาไม่ได้ ซึ่งมีขายตามร้านโดยมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการกำหนดวันทิ้งขยะซึ่งจะระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับ ใบปลิว หรือปฏิทินตารางเวลา ซึ่งทางอำเภอจะแจกแก่ทุกครัวเรือน โดยมีมาตรการลดปริมาณขยะด้วยการแจกถุงขยะ เสมือนการกำหนดว่าแต่ละบ้านควรสร้างขยะเพียงปริมาณเท่านี้ต่อปีที่อำเภอแจกถุงขยะให้ ซึ่งถ้าอยากจะทิ้งขยะมากกว่าที่กำหนดก็สามารถซื้อถุงขยะ (ที่ค่อนข้างมีราคา) เพิ่มเองได้
โดยระบบการคัดแยกขยะ และกำหนดการทิ้งขยะเหล่านี้ก็มาพร้อมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ตรงตามเวลา และรูปแบบการทำงานสอดคล้องกับขยะที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีรูปแบบการจัดเก็บขยะอื่นๆ ที่รองรับบริบทของสังคมอีกด้วย เช่น กระป๋องจากตู้ซื้อของอัตโนมัติจะทิ้งที่ถังขยะข้างตู้ซึ่งทำไว้เฉพาะเท่านั้น หรือถังขยะที่ป้ายรถเมล์สำหรับทิ้งขยะเวลาคนรอรถเมล์จะมีรถเก็บขยะเฉพาะ ซึ่งเศษขยะในบริเวณนั้นก็จะมีเพียงเศษกระดาษเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น
บอกได้ว่าเรื่องของขยะนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งต่อสังคม ขยะที่ทิ้งในถังขยะตามห้างร้านจะอยู่ในความรับผิดชอบของห้างร้านในการคัดแยกก่อนทิ้ง เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่ขยะเกิดจากการผลิตของห้างร้านเอง
อย่างไรก็ตาม อุปนิสัยการคัดแยกขยะของคนญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งอาจมาจากความมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นเรื่องปกติของชาวญี่ปุ่น แต่อีกส่วนหนึ่งคงจะมาจากการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่มีตั้งแต่การตักเตือน จนถึงเสียค่าปรับ และการลงโทษทางสังคมอย่างการติฉิน นินทา หรือการ โทร.ไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่เมื่อมีคนทำผิด
จากโมเดลของประเทศญี่ปุ่น นฤพล ศรีตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมการมีส่วนร่วม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสังคมและพลังงาน เป็นคนหนึ่งที่ไปดูงานและเริ่มนำมาปรับใช้กับประเทศไทย ซึ่งก็เริ่มโครงการไปแล้วในบางเขตของกรุงเทพฯ โดยเขาอธิบายถึงโมเดลที่เริ่มลงไปใช้จริงว่า จะสามารถทำให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโมเดลดังกล่าว คือการให้ประชาชนทำการแบ่งขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะย่อยสลายได้ (ขยะอินทรีย์), ขยะของขายได้ (เช่น กระดาษ หรือขวดพลาสติก), ขยะอันตราย และขยะทั่วไป เมื่อแบ่งได้เท่านี้ ขยะที่จะถูกนำมาทิ้งก็จะเหลือเพียงขยะอันตราย กับขยะทั่วไป
“ด้านแรกคือเน้นเรื่องของการลดการใช้ ที่ทำให้เกิดขยะได้อย่างง่ายเกินไป เช่น การใช้ถุงพลาสติก อีกอย่างคือเน้นเรื่องการคัดแยกขยะรีไซเคิล ให้สามารถเอามาขายให้กับพ่อค้าได้ นอกจากนี้จะต้องมีการคัดแยกเศษขยะอินทรีย์ พวกเศษอาหารออกมา เศษขยะเหล่านี้สามารถนำไปทำปุ๋ยในครัวเรือน ทำน้ำหมักชีวภาพได้ จะใช้ในพื้นที่เขตเมืองกึ่งชนบท ดังนั้นขยะก็จะเหลือเพียงสองประเภทคือขยะอันตรายกับขยะทั่วไป”
ระบบการจัดการขยะที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั้น มีการคัดแยกอยู่ 3 ระดับ ระดับแรกคือในครัวเรือนเอง ระดับที่สองคือคนที่เก็บขนขยะ และระดับที่สามคือสถานีขนถ่าย
ทั้งนี้ แน่นอนว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลที่ไม่มีนโยบายในการจัดการขยะที่ชัดเจน รวมถึงลักษณะเมืองแบบกรุงเทพฯที่มีอพาร์ทเมนต์ หอพัก ที่อยู่อาศัยที่คนย้ายมาจากต่างถิ่นมากขึ้น มีส่วนในความไม่รับผิดชอบต่อปัญหาขยะ ก็ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยิ่งหมักหมม และทำราวกับว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาไป
“เอาเข้าจริงๆ แล้ว ปัญหามันแก้ได้ง่ายมาก อย่างปัญหาเรื่องรถขยะมาไม่ตรงเวลา ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ปัญหานี้แค่คุยกัน มีการประสานงานกันในชุมชนก็ไม่เป็นปัญหาแล้ว เพราะในกรุงเทพฯ ขยะมันเยอะ กำลังคนไม่พอก็ต้องจัดระเบียบ ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดในต่างจังหวัดเท่าที่ผมลงไปทำงานนะ เพราะกรุงเทพฯ ขาดการสื่อสารกัน ตอนนี้สังคมไทยมันควรจะต้องหันมาสร้างความเข้าใจร่วมกัน ดูว่าปัญหามันเกิดจากตรงไหน แล้วมาแก้ด้วยกัน”
ขยะอันตรายหลังภัยน้ำท่วม
เป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ใช่น้ำสะอาดจากสายฝน หากแต่เป็นน้ำที่ไหลหลากมาจากภาคเหนือ และไหลผ่านนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานกว่าพันแห่ง ซึ่งแน่นอนว่าเต็มไปด้วยสารพิษ ดังนั้น การจัดการขยะครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าการเก็บขยะทั่วไป
พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงกรณีการจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายหลังน้ำลดว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง คือ 1. ขยะและสารเคมีที่มาจากโรงงาน ส่วนแนวทางที่ 2 คือขยะอันตรายที่มาจากบ้านเรือนหลังถูกน้ำท่วม
โดยอันตรายที่มาจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม คือ กากอันตราย หรือสารเคมีซึ่งอาจปนเปื้อนมากับน้ำที่ท่วมในโรงงาน ซึ่งการจัดการในส่วนนี้ต้องโปร่งใสในการรายงานข้อมูล โดยต้องแจกแจงเลยว่าแต่ละโรงงานมีสารเคมีอะไรบ้างที่มีการใช้อยู่ กากอุตสาหกรรมเท่าไหร่ และตัวโรงงานเองมีการจัดการเรื่องนี้กันอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ดูคลุมเครืออยู่ไม่น้อย ทั้งส่วนของโรงงานเอง เละรัฐบาล
“ภาครัฐออกมาให้ข้อมูลว่าจัดการเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้ดูว่าในแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมที่น้ำท่วมนั้น กากอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ขนย้ายก่อนน้ำท่วมหายไปอยู่ที่ไหน ข้อมูลตรงนี้ถูกปิดและคลุมเครือ ทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วขยะพวกนี้มันลอยมาตามน้ำหรือเปล่า และหลังจากที่เกิดน้ำท่วมแล้ว เขามีการจัดการเรื่องนี้กันอย่างไร”
และสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีเข้าไปในแหล่งน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“รัฐบาลชุ่ยกับการจัดการเรื่องนี้มาก ออกประกาศว่าไม่เจอสารเคมีในโรงงาน ให้สูบน้ำออกมาได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะสารเคมีจะอยู่เป็นโซนๆ ดังนั้นเราต้องหาสารเคมีเป็นที่ๆ ไป ว่ามีสารเคมีชนิดใดบ้าง จึงเอาน้ำตรงนั้นมาบำบัด แต่สิ่งที่เขาทำคือตรวจกระจายๆ ไป ไม่กี่จุดแล้วก็สรุปว่าน้ำสะอาด และปล่อยออกไปสู่ชุมชนเลย”
นี่จึงไม่ต่างจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานไปสู่ชุมชน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม และไม่มีมาตรการในการกู้นิคมอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
“ยิ่งเมื่อน้ำลด ขยะอันตรายก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ขยะเหล่านี้ไปอยู่ตรงไหน กำจัดอย่างไร มาตรการตัวนี้ไม่ได้มีการสื่อสารออกมา ซึ่งก็แปลว่า มันไม่มีนั่นเอง”
ส่วนประเด็นของขยะและสารเคมีของบ้านเรือน ก็เป็นอีกเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีขยะจำนวนมากมายที่ถูกน้ำท่วม โดยขยะจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าเละเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะเป็นขยะที่ก่ออันตรายมากที่สุด ทั้งนี้ เขาฟันธงว่าจะไม่มีการจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืน แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภายหลัง เพราะทั้งรัฐบาลและกรุงเทพฯ ต่างไม่มีนโยบายอะไรที่เป็นมาตรการในการกำจัดขยะเลย
“ปล่อยเลยตามเลย แต่หากต้องการแก้ปัญหาให้ถูก สิ่งที่ต้องทำคือต้องออกประกาศเป็นมาตรการที่ชัดเจนว่า ขยะที่เกิดจากน้ำท่วมต้องมีการแยกให้ถูกวิธีอย่างไร จุดที่กองขยะนั้นควรเป็นบริเวณใด จัดแบ่งประเภทขยะที่ไม่อันตราย เช่น ที่นอน หมอน เสื้อผ้า เศษไม้ กองรวมกัน ส่วนที่อันตรายอย่างพวกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทีวี พัดลม คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็แยกอีกที่
“ตรงนี้ต้องมีการคัดออกมา และมีการกำจัดที่ต่างกันด้วย หากเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าไปฝังกลบหรือเผา จะยิ่งอันตรายเข้าไปใหญ่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การแยกขยะ ซึ่งทาง กทม.อาจจะแจกถุงขยะเลยก็ได้ ให้เป็นส่วนๆ ไป ชาวบ้านจะได้ทำถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยเหมือนตอนนี้”
………..
เรื่องเร่งด่วนในตอนนี้ คือ การจัดการขยะที่เกิดจากน้ำท่วม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน หลายคนพูดตรงกันว่า น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้เห็นหัวใจของคนไทย เห็นถึงความสามัคคีของคนไทยที่มีให้แก่กัน มาถึงตอนนี้ หลังจากบิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ กันมาแล้วหลายต่อหลายที่ ก็ดูเหมือนเป็นภาพที่สวยงามและเป็นความร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งก็เป็นเพียงหน้าฉากที่ดูดี แต่ก็ยังมีบางมุมของการบริหารระบบการจัดการขยะที่ถูกปล่อยปละละเลยเหล่านี้ แน่นอนว่าคงสร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทว่าตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปที่ทุกคนจะหันมาสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และมีแผนการจัดการอย่างถูกต้องและยั่งยืน ไม่ใช่แก้ไขเพื่อการสร้างภาพกันเพียงอย่างเดียว
การจัดการขยะหลังน้ำลด ถือเป็นโอกาสทองที่ต้องใช้ความสามัคคีเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมไปสู่การจัดการขยะที่ดีให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะเพียงบ้านของตัวเองสะอาด แต่ในตรอกซอกซอยและท้องถนนเต็มไปด้วยขยะสกปรก เราคงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ของเมืองโดยตรง
การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนควรเริ่มทำอย่างจริงจังและเข้มงวดหลังน้ำลดทันที เพื่อเปิดมิติใหม่ต่อสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัยในอนาคต ไม่ว่าในภาวะน้ำท่วมหรือภาวะปกติก็ตาม
>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK