ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เทศบาลนครขอนแก่นประสบความสำเร็จแปรรูปขยะไร้ค่าเป็นพลังงานไฟฟ้า และผลิตเป็นน้ำมัน เผยใช้เทคโนโลยีไพโรไลซีสผลิตน้ำมันได้ไม่ต่ำกว่า 4,500 ลิตรต่อวัน ใช้ได้กับเครื่องยนต์ความเร็วรอบต่ำ ทั้งเครื่องตัดหญ้า และมอเตอร์ไซค์ โดยเทศบาลนครขอนแก่นเป็น 1 ใน 3 เทศบาลนำร่องโครงการส่งเสริมการแปรรูปจากขยะพลาสติกที่ สนพ.ให้การสนับสนุน
นายพีระพล พัฒนพีรเดช นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น เปิดเผยว่าหลายปีที่ผ่านมา เทศบาลนครขอนแก่นประสบกับปัญหาการกำจัดขยะ เนื่องจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลฯ ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 98 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านคำบอน อ.เมือง ไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัดทั้งสิ้นประมาณ 262 ตันต่อวันได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีขยะของเทศบาลฯ ประมาณ 164 ตันต่อวัน และมีส่วนของท้องถิ่นอื่นประมาณ 98 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังมีขยะเดิมที่ตกค้างอยู่สถานีกำจัดขยะประมาณ 800,000 ตัน
จากปริมาณขยะจำนวนมหาศาลดังกล่าว ส่งผลทำให้เกิดปัญหามลพิษจากขยะมูลฝอย เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสีย การปนเปื้อนแหล่งน้ำผิวดิน-ใต้ดิน การปลิวของขยะรวมถึงมลพิษจากกลิ่น เป็นต้น
นายพีระพลระบุว่า สำหรับในเขตเทศบาลฯ จะพบว่าขยะตามบ้านพักอาศัยนั้นมีพลาสติกปนอยู่ในขยะเป็นจำนวนมาก อาจมากถึง 20% ของปริมาณขยะทั้งหมด คือ ขยะ 1 ตันจะมีพลาสติกอยู่ประมาณ 200 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยขยะที่เข้ามา 262 ตันต่อวัน จะมีพลาสติก 52.4 ตันต่อวัน และในกองขยะเก่า 800,000 ตัน เดิมก็จะมีขยะพลาสติกราวๆ 160,000 ตัน ถือเป็นปริมาณที่มาก
“พลาสติกเหล่านี้อีก 400 ปี จึงจะย่อยสลายได้หมด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขยะพลาสติกเหล่านี้มีมากมายในกองขยะบ้านเรา และย่อยสลายช้ามากโดยการย่อยสลายก็จะเกิดสาร ก่อมะเร็งขึ้นอีก เทศบาลฯ จึงพิจารณาหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและคำนึงถึงประโยชน์อันสูงสุด ที่ควรจะได้รับจากการดำเนินงานกำจัดขยะมูลฝอยในอนาคต” นายพีระพลกล่าว และว่า
อย่างไรก็ตาม เทศบาลฯ มีเป้าหมายในการจัดการขยะตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยแปรรูปขยะเป็นพลังงาน (waste to energy) โดยเทคโนโลยียุคนี้มักจะพูดกันเกี่ยวกับการแปรรูปขยะเป็นน้ำมันและไฟฟ้า จะเห็นว่าน้ำมันและกระแสไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของทุกประเทศในโลก แต่เดิมผู้คนต่างคิดว่าขยะนั้นไม่มีคุณค่าแต่ปัจจุบันนี้ใครมีขยะก็เปรียบเสมือนทองคำ เพราะขยะเหล่านี้จะเป็นแหล่งรายได้แหล่งพลังงานในอนาคต
นายพีระพลกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเทศบาลนครขอนแก่นประสบความสำเร็จในการแปรรูปขยะไร้ค่าเหล่านี้เป็นพลังงานไฟฟ้า และผลิตเป็นน้ำมัน การแปรรูปขยะเป็นน้ำมัน เริ่มจากระบบคัดแยกขยะและระบบแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซีส (Pyrolysis) เป็นระบบที่ใช้ความร้อนในสภาวะไร้อากาศทำให้พลาสติกเกิดเป็นไอระเหยและถูกควบแน่นให้กลายเป็นน้ำมัน สามารถกำจัดขยะพลาสติกเข้าระบบได้ไม่น้อยกว่าวันละ 6 ตัน ผลิตน้ำมันได้ไม่น้อยกว่าวันละ 4,500 ลิตร ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นน้ำมันดิบ (Crude oil) ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถใช้กับเครื่องยนต์ประเภทความเร็วรอบต่ำได้ เช่น เครื่องตัดหญ้า หรือแม้กระทั้งมอเตอร์ไซด์ เป็นต้น
ทั้งนี้ นายพีระพลกล่าวว่าในปี พ.ศ. 2551 เทศบาลนครขอนแก่นเป็น 1 ใน 3 เทศบาลฯได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ให้เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดตั้ง “โครงการส่งเสริมการแปรรูปจากขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน” และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก สนพ.ในวงเงิน 30.1 ล้านบาท จากงบประมาณโครงการฯ รวมทั้งหมด 96 ล้านบาท ในส่วนที่เหลือประมาณ 65.9 ล้านบาท เป็นเงินที่เทศบาลฯสมทบ เทศบาลฯได้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษา
อย่างไรก็ตาม การสมทบเงินของเทศบาลฯ จำนวน 65.9 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินงบประมาณที่สูงมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองในด้านอื่น ดังนั้น เทศบาลฯ จึงได้คิดหาแนวทางที่ประหยัด และเหมาะสมโดยเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุนในส่วนนี้ โดยให้สิทธิในการผลิตและนำน้ำมันที่ได้ไปใช้ โดยรายได้ที่เกิดขึ้นเทศบาลฯ ขอแบ่งส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 30% ซึ่งเป็นเงินรวมแล้วประมาณ 8 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ จะเห็นว่าเทศบาลฯไม่ได้ใช้เงินของเทศบาลฯ ในการลงทุนโครงการนี้แถมยังได้รายได้กลับมาจากการเช่าที่ดิน การจัดประโยชน์ตลอด 3 ปีจากน้ำมันเพิ่มอีก 8 ล้านบาทเศษ และสำคัญที่สุด คือ เทศบาลฯ สามารถกำจัดขยะได้วันละ 6 ตัน คิดเป็นขยะที่ถูกกำจัดทั้งหมด 5,400 ตัน โดยขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 ไร่ของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลฯ