xs
xsm
sm
md
lg

ผลตรวจสอบ ถ.พระราม 4 ทรุด เหตุซ่อมแซมไร้มาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุทธิศักดิ์” เผย ผลตรวจสอบเหตุทรุดตัว ถ.พระราม 4 พบรอยต่อระหว่างท่อระบายน้ำของ กปน.ที่เชื่อมมายัง กทม.ปิดไว้เพียงแค่กระสอบทราย ชี้ ซ้ำรอยกรณี ถ.พญาไท ที่เกิดจากการซ่อมแซมไม่ได้มาตรฐาน ระบุ ทาง กปน.เตรียมค้นหาข้อมูลบริษัทรับเหมาย้อนหลังเพื่อขึ้นแบล็กลิสต์ พร้อมนำเสนอจัดระบบบริหารสาธารณูปโภคใต้ดินระยะยาว

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท.เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบถนนพระราม 4 ซึ่งก่อนหน้านั้น เกิดปัญหาการทรุดตัว โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตปทุมวัน สำนักงานเขตสาทร สำนักโยธาเขตปทุมวันและเขตสาทร สำนักระบายน้ำกทม. และการประปานครหลวง ประมาณ 50 นาย ตั้งแต่เวลา 22.00 น.ของวันที่ 21 เมษายน จนถึงเวลา 04.00 น.ของวันที่ 22 เมษายน ว่า ได้ทำการขุดเจาะพื้นผิวถนนเพื่อตรวจหาสาเหตุของการทรุดตัว โดยได้ทำการขุดเจาะจากพื้นผิวถนนลึกลงไป 2.50 เมตร เพื่อตรวจสอบท่อระบายน้ำ ซึ่งพบว่ารอยต่อระหว่างท่อระบายน้ำของการประปานครหลวง (กปน.) ที่เชื่อมต่อมายังท่อระบายของ กทม.นั้นถูกปิดล้อมไว้เพียงกระสอบทรายทำให้เมื่อระยะเวลานานเข้าจึงเกิดปัญหาทรายไหลออกจนกลายเป็นเหตุให้ถนนทรุดตัว ทั้งที่ในการก่อสร้างที่ให้เกิดความมั่นคงควรจะต้องเทคอนกรีตปิดทับไว้

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมก็หาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการทรุดตัว ก็พบว่า เป็นปัญหามาจากการซ่อมแซมกรณีเดียวกับที่เคยเกิดปัญหาที่ถนนพญาไท แต่คงไม่สามารถไปย้อนหาผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากการก่อสร้างของ กปน.นั้นดำเนินการมานานหลายปีแล้ว ในหลักการถ้ายังอยู่ในระยะเวลาของการประกันจากผู้รับเหมาก็อาจจะมีระยะเวลาประมาณ 2 ปี แต่เบื้องต้น ทาง กปน.จะไปตรวจสอบย้อนหลังว่าผู้รับเหมาในโครงการดังกล่าวเป็นบริษัทใดและทำการขึ้นแบล็คลิสต์ไว้

“ในส่วนของ กปน.ก็จะไปหาว่าบริษัทไหนมาทำงานในตอนนั้น ส่วนของเราก็จะดู และให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย และตรวจสอบว่าจุดใดจำเป็นต้องเร่งซ่อมแซม เพราะระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เสียหายเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องดูแล” รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากนี้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปรวบรวมข้อมูลและจึงจะนัดประชุมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อการดูแลความปลอดภัยในเรื่องดังกล่าวระยะยาวจะเสนอให้การจัดทำระบบบริหารจัดการ ทั้งการทำฐานะข้อมูลระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานมาร่วมให้ข้อมูล ในกรณีที่จะต้องซ่อมแซมถนน หรือระบบสาธารณูปโภคใต้ดินควรจะต้องจัดทำระบบตรวจสอบการรับงานที่ชัดเจนขึ้น คือ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมาร่วมตรวจสอบภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น ส่วนการซ่อมแซมผิวจราจรนั้นจะเสนอให้ซ่อมแซมแบบเสริมแรงในบางจุดที่จำเป็น เช่น ราดยางมะตอยควบคู่กับการใช้แผ่นเสริมแรง ซึ่งจะช่วยให้พื้นผิวถนนจุดนั้นมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น