xs
xsm
sm
md
lg

ดิลิเวอรี “พลังงาน” เสิร์ฟเด็กถึงโรงเรียน/คอลัมน์ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สุกัญญา แสงงาม

เชื่อว่า ไม่มีสถานศึกษาแห่งใดจัดหลักสูตร หรือเนื้อหาเกี่ยวกับพลังงาน ได้สมบูรณ์เท่ากับ ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร บอกว่า อุทยานฯแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ระดับสากลด้านพลังงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นิทรรศการจัดในสไตล์พิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีเรื่องราวให้เรียนรู้มากมาย สนุก ไม่รู้จักเบื่อ มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายครบวงจร สร้างสรรค์นวัตกรรม เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น

โดยผมตั้งเป้าไว้ว่าปีหนึ่งๆ จะมีเด็ก เยาวชน เข้ามาศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะมาเข้าค่าย หรือมาเยี่ยมชมศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน ปรากฏว่า มีเด็ก เยาวชนให้ความสนใจเกือบแสนราย

จริงๆ แล้วเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่จำนวนเด็กว่าปีหนึ่งจะมาทัศนศึกษากี่คน สิ่งที่ต้องการ ก็คือ ให้เด็กเข้าถึงความรู้แล้วนำความรู้ด้านพลังงานไปขยายผลต่อที่โรงเรียน ชุมชน เช่น รณรงค์ให้โรงเรียน ชุมชน ใช้พลังงานอย่างประหยัด และหันมาอนุรักษ์ต้นไม้ ช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน หยุดตัดไม้ทำลายป่า เพื่อลดภาวะโลกร้อน หรือเรียนรู้วิธีการทำจุลินทรีย์เพื่อนำน้ำจุลินทรีย์มาใช้ในการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย

รศ.ดร.เสรี เล่าให้ฟังว่า ภายในอุทยานฯ มีพิพิธภัณฑ์พระบิดาพลังงาน โดยนำพระราชกรณียกิจและโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ตามพระราชดำริด้วยพระราชอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยเฉพาะพัฒนาด้านพลังงาน อาทิ พลังงานทดแทน ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้ากังหันลม เชื้อเพลิงอัดแท่ง ระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ สำหรับพลังงานชีวภาพ ได้แก่ โครงการวิจัยการผลิตเอทานอล โครงการดีโซฮอล์ ไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ ส่วนพลังงานน้ำ ได้แก่ โครงการต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ และปฏิบัติการฝนหลวง

และนิทรรศการแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และการแก้ไขปัญหาพื้นที่ขนาดใหญ่ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ให้คนและสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกัน

ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทั้งหมดสามารถนำมาใช้ในชีวิตได้จริง เรามีการสาธิตการใช้พลังงานทดแทนในการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ได้แก่ กังหันลมสูบน้ำเพื่อใช้ในแปลงพื้นที่ป่าบก และพื้นที่ทำกังหันลมสาธิตการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้พลังงานสะอาด และสามารถขยายผลต่อยอดการใช้พลังงานลมเป็นพลังงานทางเลือกได้ในอนาคต พร้อมกันนี้ ยังมีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อนำมาใช้เป็นไฟแสงสว่างบริเวณอาคารจอดรถและทางเดิน

“เด็ก เยาวชน มาทัศนศึกษาแล้วนำไปขยายผลต่อยอด นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ผมมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก เยาวชน ที่ไม่มีโอกาสเดินทางมาสัมผัสเรียนรู้ด้านพลังงาน เข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้ ผมผุดไอเดียทำรถโมบาย ภายในบรรจุนิทรรศการแบบอินเทอร์แอกทีฟ และย่อนิทรรศการสำคัญๆ ให้มีขนาดที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก แล้วนำความรู้ไปเสิร์ฟให้แก่เด็กถึงโรงเรียนและชุมชน อย่างไรก็ดี คาดว่า รถโมบายจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ทันทีที่รถโมบายเสร็จ จะให้บริการโรงเรียนตระเวนชายแดน โรงเรียนที่อยู่ในอุปถัมภ์ และโรงเรียนที่สนใจ โดยเราจะส่งวิทยากรไปเผยแพร่ความรู้ในคราวเดียวกันด้วย” รศ.ดร.เสรี สรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น