ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กฟภ. เปิดสถานีกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าสทิงพระ กำลังผลิต 1.5 MW จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าขนานกับระบบไฟฟ้าปกติ เป็นโมเดลต้นแบบของการใช้พลังงานสะอาด ลดมลภาวะและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธานในพิธีเปิดสถานีกังหันลมผลิตไฟฟ้าสทิงพระ ที่หาดมหาราช บ้านพังเสม็ด หมู่ 2 ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยมีนายนำชัย หล่อวัฒนะตระกูล รองผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พร้อมทั้งนายสาธิต ธรรมประดิษฐ์ นายอำเภอสทิงพระ ผู้บริหาร กฟภ. และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธี เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (1 ก.พ.)
ทั้งนี้ กฟภ. ได้ทำการศึกษาวิจัยพลังงานลมทะเลจากพื้นที่ 4 จุดทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พบว่าที่หาดมหาราช บ้านพังเสม็ด อ.สทิงพระ เป็นพื้นที่ที่มีความเร็วลมเพียงพอต่อการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า จึงดำเนินการติดตั้งกังหันลมดังกล่าวขึ้น ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 129 ล้านบาท โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จำนวน 76.8 ล้านบาท
โดยกังหันลมผลิตไฟฟ้าดังกล่าว มีขนาดความสูงรวมฐาน 80 เมตร ใบพัด 3 ใบ ยาวใบละ 37 เมตร มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1.5 MW ณ ความแรงลมเต็มพิกัด ซึ่งจะจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าขนานกับระบบไฟฟ้าปกติ ทำให้มีแรงดันไฟฟ้าในระบบเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพียงโมเดลต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถนำพลลังงานลมทะเลมาผลิตตกระแสไฟฟ้าได้เท่านั้น ไม่ได้มีผลทำให้ค่า Ft หรือค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงแต่อย่างใด
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความต้องหารใช้กระแสไฟฟ้ามากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในภาคการผลิต โรงงานอุตสาหกรมม และภาคครัวเรือน รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องจัดหาพลังงานสำรองทดแทนขึ้น โดยกังหันลมผลิตกระแสฟ้าดังกล่าวนี้ เป็นกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1.5 MW ตัวที่ 2 ของประเทศไทย และเตรียมติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าตัวที่ 3 ขึ้นที่ จ.ปัตตานี ในเร็วๆ นี้
“กังหันลมทั้ง 3 แห่งนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นศูนย์สาธิตการเรียนรู้ว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพลมเพียงพอนั้นสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ แต่ทั้งนี้ต้องใช้ต้นทุการผลิตสูงอาจจะต้องดำเนินการโดยเอกชน ซึ่งบริษัทร่วมค้าที่เข้ามาเห็นศักยภาพลมในพื้นที่ก็สนใจที่จะลงทุนในโครงการต่อไป” นายไกรฤทธิ์ กล่าว
แม้ว่ากังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นเพียงโมเดลต้นแบบ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการนำพลังงานสะอาดมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งยังพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กฟผ.จะสนับสนุนพลังงานทางเลือกจากกังหันลม แต่ขณะเดียวกันก็ยังเดินหน้าแผนสร้างโรงไฟฟ้าอีกหลายแห่ง ทั้งโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ซึ่งยังคงมีแรงต้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาจากการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าจะนะ 1 จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มิหนำซ้ำยังเดินหน้าสานต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ คือ อ.หัวไทร อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และที่ อ.กันตัง จ.ตรัง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนและนักเคลื่อนไหวอิสระ ว่าแท้จริงแล้วเป็นความต้องการใช้ของประชาชน หรือรองรับแผนพัฒนาภาคใต้ที่จะรองรับนิคมอุตสาหกรรมหนัก