‘สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์’
‘ครูชาติพันธุ์’คนแรกของ มศว
โดย ศิริรัตน์ สวัสดิ์หว่าง
“สิ่งที่เรามี เราต้องแบ่งปัน ยิ่งให้ เรายิ่งได้รับกลับมาเยอะ” นี่คือคำกล่าวของ “ชิ” สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ วันนี้เขามีบทบาทใหม่ จากนักดนตรีปกาเกอะญอแห่งตำบลป่าสนวัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ สภารักษ์ต้นน้ำแม่แจ่ม ร้องเพลงปกาเกอะญอ และเล่นเตหน่ากู พิณของปกาเกอะญอ ดังก้องกังวานในชุมชนบนยอดดอยและในเมืองที่ต่างๆ ไกลไปถึงแดนดินถิ่นที่ต่างประเทศ ด้วยบทเพลงและเครื่องดนตรีที่มีเอกลักษณ์สะท้อนตัวตนชนเผ่าปกาเกอะญอของเขาโดยแท้
วันนี้เป็นวันที่ “ชิ” สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ครูปกาเกอะญอคนแรกของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สังกัดวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เดินทางมารับการอบรมการเป็นบุคลากรใหม่ของมหาวิทยาลัยพร้อมๆ กับการพูดคุยถึงบทบาทใหม่ในชีวิตของความเป็น “ครูชาติพันธุ์”
“ผมขอใส่เสื้อชนเผ่าของผมก่อนนะ” เขาพูดพร้อมกับคว้าเสื้อปกาเกอะญอสำหรับผู้ชายสีแดงสดออกจากย่ามผ้าฝ้ายทอมือและสวมใส่มันอย่างรวดเร็ว
“ผมเป็นคนปกาเกอะญอ เป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัวที่มีชื่อว่า ชิ แปลว่า ตัวเล็ก และเติบโตมาในชุมชนเล็กๆ ที่ขุนน้ำแจ่ม ผมได้โควตาเรียนสาขาไฟฟ้ากำลังที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ทั้งที่หมู่บ้านของผมยังไม่มีไฟฟ้า ผมไม่ชอบแต่พ่อผมชอบ บอกว่า จะทำให้ผมมีอาชีพที่ดี มั่นคง เป็นวิศวกรได้ ผมรู้สึกไม่มีความสุข ถ้าเราทำอะไรที่ฝืนใจ มันจะออกมาไม่ดีและไม่มีความสุข”
ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเรียนสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ จนจบปริญญาตรี และจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง การดำรงความเป็นชุมชนปกาเกอะญอ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในมิติ ทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่เพียงแต่ อาจารย์ชิ จะภาคภูมิใจและสำนึกในความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง และพยายามแสดงให้สังคมเห็นถึงคุณค่าแห่งวิถีชีวิตในวัฒนธรรมชนเผ่าที่เขาเชื่อว่า จะนำมาสู่การเรียนรู้และการแสวงหาคำตอบที่ควรต้องมีความสมดุลและเกื้อกูลต่อกัน
ด้วยทัศนะมุ่งมั่น อยากให้ชุมชนเห็นถึงศักยภาพที่สามารถพึ่งตนเองได้ พร้อมเรียกร้องให้เกิดการหวงแหนรักษาป่าชุมชน สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ ไม่เพียงแต่ชนเผ่าปกาเกอะญอของเขาเอง อาจารย์ชิ มองว่า ธรรมชาตินั้นถ้าเราใช้ เราก็ต้องรักษาให้สมดุล ระหว่างคนกับธรรมชาติ ธรรมชาติกับชุมชน ชุมชนกับสังคมทั้งสังคมภายในและสังคมภายนอก ทั้งที่บ้าน ในป่า ในสังคมเมือง และในสังคมชนบท
“อาจารย์อำนาจ เย็นสบาย (คณบดีวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว) ที่มองเห็นผม ทำให้ได้มีโอกาสมาเป็นอาจารย์ บอกว่า ผมคิดสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี ผมก็ว่าน่าจะเป็นการดีกว่า ถ้าผมจะเหนื่อยน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตก่อนหน้าที่จะมาเป็นอาจารย์ ผมทำงานหนัก เหนื่อยมากกับการเรียกร้องต่อสู้ให้สังคมทั้งภายในและภายนอกชุมชนของผมเห็นถึงคุณค่าของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่าปกาเกอะญอของพวกเขาเอง ไม่ใช่แค่นั้นผมยังเลยข้ามไปถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ที่อาจจะมีมากกว่า 35 ชาติพันธุ์ด้วยซ้ำ เราจึงเรียกรวมกันว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง”
“ผมคิดว่า การต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ อย่างนี้สำหรับคนในชุมชนเดียวด้วยกันเอง คนที่เป็นปกาเกอะญอเหมือนผมด้วยกันเองนั้นก็ว่าเหนื่อยหนักใจมากแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้สังคมใหม่ สิ่งใหม่ๆ กำลังจะกลืนกินเอาความเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของพวกเราไปจนที่สุดเราอาจจะไม่เหลือความภาคภูมิใจอะไรเอาไว้ให้ถึงคนรุ่นหลัง คนเราต้องมีศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นที่ดีอะไรบางอย่างในตัวตน ในชาติพันธุ์กำเนิดของเรา ยังไม่รวมถึงการเรียกร้องให้สังคมภายนอก โลกภายนอกยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ พื้นที่ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัยแม่สอด ตั้งอยู่นั้นก็น่าท้าทาย และน่าสนใจมาก เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนที่เชื่อมต่อกับดินแดนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์อย่างหลากหลาย”
อาจารย์ชิ เล่าต่อว่า ตนมีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นอิสลาม และมีความอยากจะเรียนที่นี่มากๆ มีทั้งพม่า จีน ไทย และส่วนใหญ่ก็แน่นอนว่านิสิตเหล่านั้นเป็นคนปะกาเกอะญอเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะเจริญเติบโตเป็นกล้าพันธุ์เหล่านี้ ควรจะต้องโตได้อย่างแข็งแรง
“ถึงแม้ว่าผมจะเหนื่อยที่ต้องตระเวนการพูดคุยเวทีแล้วเวทีเล่า เล่นเตหน่ากู และร้องเพลงด้วยภาษาเฉพาะของผมตามชุมชนบนดอย ในเมือง นี่คือ สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าการเป็นอาจารย์ของผมในวันนี้ จะทำให้ผมได้มีโอกาสได้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดสิ่งที่ผมคิดไปสู่คนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของการสร้างสรรค์สังคมไทย รวมไปถึงการหล่อเลี้ยงปัญญาของพวกเขาให้ดี ซึ่งระบบการศึกษาก็ต้องเลี้ยงเขา ต้องสร้างให้เขามั่นใจว่าเขาจะกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ เข้าใจว่า ป่าชุมชนคืออะไร เข้าใจว่า คนต้องอยู่กับป่า และอยู่อย่างไรให้ยั่งยืน และจะช่วยให้เราลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่โพธิวิชชาลัยแม่สอด และผลที่ตามมา ก็คือ การยอมรับในความแตกต่าง เคารพ และเรียนรู้ความแตกต่างของกันและกัน ผมชอบที่มีคำพูดว่า เราควรสงวนจุดต่าง-แสวงหาจุดร่วม” อาจารย์ชิ เอ่ยทิ้งท้าย
ตัวตน ความคิด และความเป็นชาติพันธุ์ของอาจารย์ชิ และมนุษยชาติคนอื่นๆ ในโลกนี้ หลายต่อหลายคนได้ก้าวข้ามพรมแดนขีดจำกัดทางการศึกษา การเรียนรู้ พร้อมทั้งขยายผล เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยน และสานสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันของคนในสังคม คนกับธรรมชาติ น้อมนำไปสู่ความสันติสุขในสังคม