xs
xsm
sm
md
lg

ชนเผ่าบุกกรุงสัปดาห์นี้ ทวงสัญญาเขตวัฒนธรรมพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ชนเผ่าบุกกรุงสัปดาห์นี้ ทวงสัญญาเขตวัฒนธรรมพิเศษ ปักหลักค้างข้างริมทำเนียบ-แสดงเวทีวัฒนธรรม ยื่นข้อเสนอรัฐบาล เผย ถูกกดดันมานาน “ครูแดง” หนุนตั้ง กก.ระดับชาติร่วมแก้ปัญหา แนะรัฐบาลจริงใจสานต่อมติ ครม.เดิม

วันนี้ (25 มี.ค.) นายสุวิชาน พนาไพรวัลย์ ศิลปินชื่อดังชาวกะเหรี่ยง ในฐานะคณะกรรมการเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองเปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ชาวเล กะเหรี่ยง ม้ง อาข่า ลีซู เป็นต้น กว่า 650 คน จะเดินทางมาร่วมจัดกิจกรรมและนอนค้างที่บริเวณริมถนนข้างทำเนียบรัฐบาล (ฝั่งโรงเรียนพณิชยการวิทยาเขตพระนคร) เพื่อยื่นข้อเสนอต่างๆ ต่อรัฐบาลหลายประการ อาทิ ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตามมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 2 มิถุนาย 2553 เรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเล และวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวกะเหรี่ยง โดยเสนอให้มีรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และขอให้คณะกรรมการชุดนี้เร่งประกาศพื้นที่นำร่อง ชาวเล 8 พื้นที่ กะเหรี่ยง 4 พื้นที่ ตามที่ได้มีผลการศึกษาของสถาบันวิชาการทำไว้แล้ว

นายสุวิชาน กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังขอให้คณะกรรมการ ชุดที่มีรองนายกฯเป็นประธานนี้ หาแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในกรณีปัญหาเร่งด่วน เช่น ปัญหาที่ดิน พื้นที่ทำกิน พื้นที่วัฒนธรรม เรื่องสัญชาติ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเท่าเทียม และขอให้จัดตั้งกองทุนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง สนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชนเผ่าต่างๆ ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรม การแก้ปัญหา พัฒนาไปสู่การประกาศเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดสถาบันของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

เราจะนอนค้างกันข้างทำเนียบ เพราะต้องการอธิบายให้รัฐบาลและสังคมเข้าใจถึงปัญหาของพวกเรา เพราะที่ผ่านมา เราถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า ทั้งที่อยู่มานาน ถูกโยกย้ายเผาบ้านเผาเรือนเผายุ้งข้าวซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่รุนแรง และไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนั้น เรื่องบัตรประชาชนและสัญชาติก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เราจึงคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องมา” นายสุวิชาน กล่าว และว่า ในคืนวันที่ 29 มี.ค.นี้ จะมีการแสดงวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นของแต่ละชนเผ่าจึงอยากเชิญชวนผู้ ที่สนใจ และประชาชนทั่วไปมาร่วมรับชมการแสดงพื้นบ้านเหล่านี้ พอเช้าวันที่ 30 มี.ค.แต่ละคนจะแต่งชุดประจำเผ่าเดินไปยังสถานีรถไฟฟ้า เพื่อรณรงค์ให้คนกรุงเทพฯเข้าใจปัญหาของพวกตน ขณะที่บางส่วนจะไปร่วมงานสมัชชาปฏิรูปที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานเครือข่ายผู้เสียโอกาสกลุ่มชาติพันธุ์และคนจนเมือง คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า วาระเรื่องชนเผ่าเสนอเป็นประเด็นเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปในปีหน้าโดยชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อยากให้รัฐบาลทำให้มติ ครม.ที่ฟื้นฟูชาติพันธุ์ต่างๆเกิดขึ้นจริง ซึ่งตนเองก็เห็นด้วยตามข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการให้มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อดูแลปัญหาต่างๆ ของคนเหล่านี้ โดยเฉพาะปัญหาไร้สัญชาติ เพราะปัจจุบันหากที่ใดทำงานร่วมกันด้วยดีระหว่างภาครัฐและเจ้าของปัญหารวมถึงองค์กรสนับสนุน การแก้ปัญหาก็มักจะสำเร็จ แต่พื้นที่ไหนเจ้าของปัญหาและข้าราชการไม่ร่วมมือกันเข้มแข็งก็จะยังมีปัญหาอยู่ เช่น กรณีของลาวที่อุบลฯ หรือ ชาวเล ซึ่งมีการกระตุ้นน้อยเกินไป ทำให้ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ปัญหาของชาวเลเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินรายใหม่ออกเอกสารสิทธืทับที่ดินของชาวเลที่อยู่กันมานาน เรื่องนี้ต้องการนโยบายชัดเจนของรัฐบาลที่ทำให้พวกเขา การเดินทางมาจัดกิจกรรมข้างทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้ พวกเขาต้องการสะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ของเขาเอง พวกเขามากันจากหลายพื้นที่ เช่นคนต้นทะเล คือ ปกะเกอญอจากอุ้งผาง จ.ตาก หรือคนที่ไมเคยแสดงตัวตนเช่นชาวมอญจากอำเภอสังขละ จ.กาญจนบุรี ครั้งนี้ พวกเขามีความตื่นตัวมาก เพราะอยากให้รู้ว่าแผ่นดินสยามมีความหลากหลายและพวกเขาก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ” นางเตือนใจ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น