xs
xsm
sm
md
lg

ทูตแรงงานอิสราเอลเล็งแจ้งความนายจ้างบังคับเซ็นยกภาษีรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทูตแรงงานในอิสราเอลลงพื้นที่คุยแรงงานเก็บข้อมูล เล็งแจ้งความนายจ้างบังคับเซ็นโอนเงินภาษีรายได้ ด้านที่ปรึกษาสมาคมจัดส่งแรงงานฯยอมรับมีการเก็บค่าหัวคิว 3-4 แสนบาทจริงแค่บางบริษัท

วันนี้ (29 มี.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานไทยในอิสราเอลถูกนายจ้างบังคับให้เซ็นยินยอมยกเงินภาษีรายได้ที่ถูกหักไว้ 10% ของค่าจ้างในแต่ละเดือน ซึ่งในช่วงระยะของการทำงาน 2-5 ปีของสัญญาจ้างรวมแล้วเป็นเงินกว่า 8.4 หมื่น- 2.4 แสนบาทต่อคน ว่า ตนได้พูดคุยกับอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานในอิสราเอล ซึ่งพบว่า แรงงานไทยในอิสราเอลมีทั้งกลุ่มที่ได้รับเงินภาษีรายได้คืน และกลุ่มที่ไม่ได้เงินภาษีคืน เนื่องจากนายจ้างบังคับ ข่มขู่ให้เซ็นยินยอมโอนเงินภาษีรายได้ให้แก่นายจ้างในเดือนสุดท้ายของการทำงานก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง ซึ่งกรณีนี้พฤติกรรมของนายจ้างเข้าข่ายฉ้อฉล

ทั้งนี้ ตนจึงได้ให้อัครราชทูตฯลงพื้นที่ไปพูดคุยกับแรงงานไทยในอิสราเอลที่มีปัญหาไม่ได้รับเงินภาษีรายได้คืน เพื่อรวบรวมข้อมูลแจ้งแก่ทางหน่วยงานราชการของอิสราเอลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับนายจ้าง รวมถึงบริษัทคู่ค้าของบริษัทจัดหางานในไทย ซึ่งเป็นตัวแทนดูแลแรงงานไทยในอิสราเอลด้วย ซึ่งขณะนี้มีบริษัทคู่ค้าที่ดูแลแรงงานไทยในอิสราเอลประมาณ 20 บริษัท

ส่วนแรงงานไทยที่เคยไปทำงานอิสราเอลและถูกนายจ้างบังคับให้เซ็นยินยอมโอนเงินภาษีรายได้ให้แก่นายจ้างนั้น ตนได้ขอให้สถานทูตไทยในอิสราเอลว่าจ้างทนายความมาช่วยยื่นฟ้องนายจ้างเพื่อเรียกเงินภาษีรายได้คืนให้แก่แรงงานไทย เนื่องจากขณะนี้มีบริษัทจัดหางานซึ่งเป็นของคนไทย 2 แห่งรับยื่นเรื่องฟ้องร้องนายจ้างแทนแรงงานไทยเพื่อเรียกเงินภาษีรายได้คืนโดยคิดค่าทนายความ 50-60% ของเงินภาษีรายได้ที่แรงงานจะได้คืนมา

“การที่ให้อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแรงงานลงพื้นที่ไปพูดคุยกับแรงงานไทยในอิสราเอลที่มีปัญหาไม่ได้รับเงินภาษีรายได้คืน เพื่อรวบรวมข้อมูลแจ้งแก่ทางหน่วยงานราชการของอิสราเอล ก็เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ทำงานใกล้จะครบกำหนดสัญญาจ้าง และจะต้องเดินทางกลับไทยในเดือนเม.ย.นี้ให้ได้รับเงินภาษีรายได้คืน โดยแต่ละปีมีแรงงานไทยในอิสราเอลกลับไทยประมาณ 5,000 คน ส่วนแรงงานไทยที่เคยไปทำงานอิสราเอลและถูกบังคับให้เซ็นยินยอมโอนเงินภาษีรายได้ให้แก่นายจ้างไปแล้ว ก็สามารถที่จะให้ทนายความเป็นตัวแทนไปแจ้งความกับหน่วยงานราชการของอิสราเอลได้ว่า ถูกนายจ้างบังคับ ข่มขู่ให้เซ็นยินยอมโอนเงินภาษีรายได้ ซึ่งกฎหมายของอิสราเอลเข้มงวด เด็ดขาดมาก ล่าสุดมีบริษัทจัดหางานในอิสราเอล 1 แห่งถูกลงโทษจำคุก เนื่องจากไปเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงานและร่วมกับนายจ้างบังคับ ข่มขู่ให้แรงงานเซ็นยินยอมโอนเงินภาษีรายได้ให้แก่นายจ้าง” นายประวิทย์ กล่าว

อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่านายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดี กกจ.ว่า เซ็นคำสั่งอนุมัติให้แรงงานไทยไปทำงานอิสราเอลโดยถูกต้องหรือไม่ ขณะนี้นายสุเมธยังคงปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดี กกจ.โดยดูแลในส่วนของแรงงานไทยในประเทศ ส่วนงานสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ได้ให้นายโชคชัย ศรีทอง รองอธิบดี กกจ.อีกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแล ส่วน นายสุทธิ สุโกศล ผอ.สำนักบริหารงานแรงงานไทยไปต่างประเทศได้ย้ายให้ไปทำหน้าที่รักษาการผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน

นายโชคชัย ศรีทอง รองอธิบดี กกจ.กล่าวว่า ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการลงพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.บุรีรัมย์ เพื่อพูดคุยกับอดีตแรงงานไทย และครอบครัวแรงงานไทยที่ไปทำงานอิสราเอลเพื่อเก็บข้อมูลการเรียกเก็บค่าหัวคิว และขณะนี้ทีมเจ้าหน้าที่ที่ไปเก็บข้อมูลโดยพูดคุยกับแรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอลได้เดินทางกลับมาแล้ว ทั้งนี้ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ตนจะพูดคุยกับทีมงานเจ้าหน้าที่รวมทั้งดูข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลรายงานต่อ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน

ด้าน นายวีระ มุตตามระ ที่ปรึกษาสมาคมจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ กล่าวว่า การเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงานไปอิสราเอลนั้น ทำให้ภาพพจน์ของบริษัทจัดส่งแรงงานถูกมองเหมือนจ้องสูบเลือดเนื้อ ตนยอมรับว่าในวงการนี้มีทั้งคนดีและไม่ดีที่ว่ามีการเรียกเก็บค่าหัวคิวคนละ 3-4 แสนบาท พูดกันตามตรงก็ต้องยอมรับว่ามีจริง แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นกับคนงานทั้ง 4,000-5,000 คน ที่เดินทางไปอิสราเอล

“แรงงานไทยที่ไปทำงานอิสราเอลส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายไม่เกินคนละ 2 แสนบาท ที่มีการเก็บกันสูงเพราะบางบริษัททำงานกันแบบเฉพาะกิจ มีคนท้องถิ่นดำเนินการเก็บค่าใช้จ่ายจัดส่งกันเบ็ดเสร็จคนงานยอมจ่ายเพราะมีโควตา แต่ใครทำผิดควรว่ากันเป็นรายๆไป อย่าเหมารวมโยนความผิดให้บริษัทจัดหางานว่าไม่ดีเหมือนกันทั้งหมด คนดีที่ทำถูกต้องก็มีอยู่มาก ควรให้โอกาส ไม่ควรฉวยโอกาส ทั้งนี้ เรื่องที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงโดยดำเนินการเองมีมานานแล้ว ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเป็นตลาดที่ดี ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร” นายวีระ กล่าว

นายวีระ กล่าวด้วยว่า งานในอิสราเอลเป็นงานภาคการเกษตร คนไทยส่วนใหญ่ที่ไปทำงานมาจากภาพอีสาน มีพื้นฐานการทำงานและขยันเป็นที่ถูกอดกถูกใจของนายจ้าง และความต้องการแรงงานมีมากและค่าตอบแทนคุ้มค่าโดยได้เดือนละกว่า 3 หมื่นบาท เมื่อหักลบแล้วแต่ละเดือนสามารถส่งเงินกลับบ้านได้เดือนละ 2.5 หมื่นบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าล่วงเวลาอีกมาก

“แรงงานไทย ทำงานได้โดยไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาเพียงแต่ขอให้ขยันอดทน เป็นที่มาของความนิยมของแรงงานไทย แย่งกันไป เสียเงินเท่าไหร่ก็ไป ถ้าไปแล้วขาดทุน เหมือนที่ว่า ไปเสียนา กลับมาเสียเมีย เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่เดี๋ยวนี้คนงานเขารู้แล้ว ถ้าเป็นแบบนั้น คงไม่มีใครอยากจะไป แต่ทุกวันนี้แทบจะแย่งกันไปสวนทางกับข่าวที่ออกมาไปแล้วไม่คุ้มค่าขาดทุน”นายวีระ กล่าว

ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่า แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ 70-80% ประสบความสำเร็จ ส่วนที่เหลืออาจจะคิดถึงบ้านหรือโดนนายจ้างจู้จี้กระทั่งอยู่ไม่ได้ แต่ก็ไม่ถึงกับขาดทุนแน่นอน บ้านของแรงงานที่ไปทำงานหลังใหญ่โตกันทั้งนั้น ผู้แทนหลายคนก็เคยไปเป็นแรงงานในตะวันออกกลาง บางคนเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องที่ดีก็มีอยู่ ควรจะพูดกันให้ครบถ้วน

“ตอนนี้สมาคมฯคงอยู่เงียบๆ ไปก่อน ไม่รู้จะทำยังไง กระแสมันแรงจากการทำให้เรื่องใหญ่โต พอดีกับที่อิสราเอลเร่งรัดให้มีการลดค่าใช้จ่าย ก็ยังงงอยู่ว่า จริงๆ มันควรอยู่ที่เท่าไหร่ รัฐบาลบอกคนละกว่า 6 หมื่นบาท แต่ได้ยินมาว่าคนละ 1 แสนบาท ขณะที่กฎหมายอิสราเอลกำหนดไว้ว่าคนละกว่า 3 หมื่นบาทบวกกับค่าเดินทางรวมแล้วไม่เกินคนละ 6.5 หมื่นบาท และในอิสราเอลกำลังมีการฟ้องร้องกรณีแรงงานศรีลังกาเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาทำงานสูงกว่าที่กำหนด กำลังรอดูอยู่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะจะมีผลกระทบมาถึงคนงานไทยด้วย” นายวีระ กล่าว

นายกอล์ฟ (นามสมมติ) แรงงานไทยในจ.อุดรธานี ซึ่งเคยไปทำงานในโรงงานยางพาราที่ไต้หวันหนึ่งในแรงงานไทยที่ลงทะเบียนเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลกับกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พี่ชายของตนเคยไปทำงานที่อิสราเอลมาแล้ว 5 ปี และได้เงินกลับมาจำนวนมาก จึงต้องการจะไปบ้างเพื่อหาเงินมาใช้หนี้จากการไปทำงานที่ประเทศไต้หวันเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งการไปทำงานที่ประเทศไต้หวันนั้นไปโดยผ่านบริษัทจัดหางานเสียค่าใช้จ่าย 1.8 แสนบาทได้ไปทำงานในโรงงานแบตเตอรี่เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน

“ผมตัดสินใจออกจากงานก่อนหมดสัญญาจ้าง 3 เดือน เพราะทนการทำร้ายร่างกายของผู้จัดการในโรงงานไม่ไหว ทั้งผลักหัว เตะและต่อย ทำให้ไม่ได้รับเงินที่บริษัทในไต้หวันหักภาษีรายได้ไว้ทุกเดือนๆละ 20% เพื่อจ่ายให้แก่พนักงานหลังจากที่หมดสัญญาจ้างแล้ว จึงได้เงินจากการทำงานที่ไต้หวันกลับบ้านมาเพียงแค่ 4 หมื่นบาท” นายกอล์ฟ กล่าว

///////
กำลังโหลดความคิดเห็น