“ประแสง” โชว์ครุภัณฑ์ 1 ใน 6 รายการที่จัดซื้อเข้าวิทยาลัย มูลค่า 5 แสนบาท ระบุ ดูด้วยตาอุปกรณ์บางชิ้นราคาสูงกว่าเกินจริง เผยรายงาน รมว.ศึกษาธิการ พร้อมเสนอตั้ง กก.ที่มีความรู้ทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มาตรวจสอบให้ชัดเจน หากพบว่าผิดปกติต้องลงไปตรวจสอบตั้งแต่ กก.กำหนดสเปก ว่า มีความรู้หรือไม่ ด้าน “ชัยพฤกษ์” ตั้ง “กิจสุวัฒน์” ผู้ตรวจ ศธ.เป็นประธานคณะการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีข่าวการจัดซื้อครุภัณฑ์ของวิทยาลัยอาชีวศึกษา 13 รายการ วงเงิน 884 ล้านบาท ตามงบประมาณไทยเข้มแข็ง SP2 นั้น มีการตั้งราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อและกำลังส่งมอบให้วิทยาลัยบางรายการมีราคาสูงเกินราคาท้องตลาดถึง 300% โดยขณะนี้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ได้สั่งระงับไม่ให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้เพื่อรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 มี.ค.) นายประแสง มงคลศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เรียกชุดอุปกรณ์ประจำห้องปฏิบัติการไฟฟ้า จากวิทยาลัยการอาชีพบ้านผือ จ.อุดรธานี มาตรวจสอบซึ่งวิทยาลัยดังกล่าวจัดซื้อครุภัณฑ์ทั้งสิ้น 6 ชุด ซึ่งเป็นอุปกรณ์จากยี่ห้อ PHYWE ประเทศเยอรมนี โดย นายประแสง กล่าวว่า เท่าที่ดูด้วยสายตาบางชิ้น น่าจะมีราคาสูงเกินไป เช่น มิเตอร์วัดไฟฟ้า ราคาจัดซื้อ 10,000 กว่าบาท แต่หากซื้อของไทยแถวตลาดบ้านหม้อ ราคา 800 บาท ก็สามารถซื้อได้ หรือหม้อแปลงไฟ ราคาจัดซื้อ ประมาณ 40,000 กว่าบาท แต่อุปกรณ์ชิ้นนี้วิทยาลัยเทคนิคหลายแห่งสามารถทำเองได้ใช้ต้นทุนประมาณ 2,000-3,000 บาท อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้า จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าชุดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สั่งซื้อจากประเทศเยอรมนีชุดละ 500,000 บาท ถือว่าสูงเกินจริงหรือไม่ จึงได้รายงานเรื่องให้ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทราบ พร้อมทั้งเสนอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มาตรวจสอบให้ชัดเจน แต่หากพบว่าครุภัณฑ์อาชีวะ มีการจัดซื้อที่แพงเกินจริง เท่ากับว่า ขบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเป็นปัญหา ทำให้ราชการเสียประโยชน์ เพราะฉะนั้น ต้องมีคนรับผิดชอบ ต้องไล่ดูไปตามขั้นตอนตั้งแต่กรรมการกำหนดสเปก กำหนดราคาว่ามีความรู้ ความเข้าใจ เคยเห็นอุปกรณ์ดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากมีความรู้ และรู้ราคาจริงก็ต้องมีคำถามว่ามีอะไรจูงใจให้กำหนดราคาที่สูงเกินจริง
“เฉพาะอุปกรณ์ที่นำมานี้เป็นชุดที่มีการสั่งซื้อและส่งให้ทั้ง 19 วิทยาลัย ซึ่งจากที่ได้ลงไปตรวจสอบที่วิทยาลัยด้วยตนเองก็พบว่ามีรายการอื่นที่มูลค่าสูง เช่น ชุดห้องปฏิบัตจิการควบคุมเครื่องไฟฟ้าด้วยพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมูลค่าสูงถึง 16 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านนี้ มาตรวจสอบว่าราคาสูงเกินจริงหรือไม่” นายประแสง กล่าว
ด้าน นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ตนได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมอบให้ นายกิจสุวัฒน์ หงส์เจริญ ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธาน โดยกรรมการส่วนใหญจะเป็นอดีตข้าราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิของ ศธ.และมีความรู้ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น นายประเสริฐ แก้วเพชร อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (รองเลขาธิการ กอศ.) และเคยดำรงตำแหน่ง ผอ.กองคลังสำนักปลัด ศธ.และมีนิติกรของ สอศ.ทำหน้าที่เลขานุการ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้แก่คณะกรรมการฯ แต่ยืนยันว่า จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อดีตเลขาธิการ กอศ.กล่าวว่า การจัดซื้อครุภัณฑ์วงเงิน 884 ล้านบาท ดำเนินการโดยได้รับความเห็นชอบจาก น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการการ ศธ.ที่ได้เซ็นขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการครุภัณฑ์ วงเงิน 884 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณส่วนที่เหลือจากงบไทยเข้มแข็ง ที่เคยประกวดราคาไปแล้ว และสำนักงบประมาณปรับลงลง ผู้ขายไม่สามารถทำสัญญาได้หลายรายการ และ น.ส.นริศรา และ นายชินวรณ์ ได้เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงรายการครุภัณฑ์ที่ผู้ขายไม่ประสงค์จะลงนามในสัญญา ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัย นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติให้ยุบเลิกรายการครุภัณฑ์รายการเดิมและเปลี่ยนแปลงครุภัณฑ์ใหม่ภายใต้วัตถุประสงค์เดิม และได้มีการปรับลดวงเงินเหลือ 884 ล้านบาท
“แปลว่า ที่เราได้เสนอไปสำนักงบประมาณได้มีการตรวจสอบรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้น่าจะอยู่ในกระบวนการของการตรวจรับของ โดยคณะกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์จะต้องตรวจสอบว่าตรงตามสเปกหรือไม่ ถ้าตรงตามสเปกก็ตรวจรับ แต่ถ้าไม่ตรงก็มีสิทธิไม่รับได้ เราไม่ได้กำหนดเองหลายคนมาช่วยกำหนด และผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว”น.ส.ศศิธารา กล่าวและว่า ส่วนรายการที่มีปัญหารายการที่ 11 ครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าพื้นฐาน ครม.อนุมัติ 57 ล้าน ราคาที่เสนอ 56.6 ล้านบาท แต่สำนักงบฯอนุมัติ 56.5 ล้าน ซึ่งเข้าใจว่ากระบวนการไม่มีปัญหา แต่ประเด็นที่ว่า มีอีก 18 วิทยาลัยที่รับได้ แล้วทำไมวิทยาลัยการอาชีพบ้านผือ จ.อุดรธานี ถึงไม่รับ และระบุว่า ราคาแพงเพียงแห่งเดียว ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบให้ครบทุกแห่ง