ไทย-เยอรมัน ร่วมปรับปรุงเอ็มโอยู พ.ศ.2513 ใหม่ลงนามปลายปีนี้ เน้นความร่วมมือด้านการศึกษา ภาษา ด้านช่างยนต์ ขณะที่เยอรมัน ฝากไทยให้ความสำคัญกับการเรียนด้านวิชาชีพ พร้อมเตรียมเชิญ รมว.ศึกษาธิการ ไปดูตัวอย่างจัดการศึกษาด้านอาชีพเพื่อนำมาประยุกต์กับการสอนในไทย
ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างประชุมร่วมกับ นางคอร์นีเลีย พีเพอร์ (H.E.Ms.Coenelia Pieper) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมคณะ ว่า เดินทางมาของ นางคอร์นีเลีย และคณะนอกเหนือจากการมาเยือนไทยในโอกาสปีที่ 150 ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-เยอรมัน แล้วยังจะมีการร่วมทบทวนเรื่องการลงนามความร่วมมือ หรือ MOU สมัย พ.อ.(พิเศษ)ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ได้ทำไว้กับประเทศเยอรมัน ในปี 2513 ซึ่งเป็นเวลายาวนาน และเห็นว่า ควรจะปรับใหม่เนื้อหาใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้นโดยจะมีการจัดประชุมโต๊ะกลมร่วมกันประมาณเดือนเมษายน เพื่อนำผลการหารือที่ได้ไปปรับรายละเอียดและลงนาม MOU ฉบับใหม่ในปลายปี 2555 นี้
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะขอความช่วยเหลือจากประเทศเยอรมนีในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่เกี่ยวกับด้านวิชาชีพ ด้านอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญและได้ทางเยอรมนี บอกว่า จะช่วยเหลือในเรื่องเครื่องยนต์มือสองเพื่อนำมาให้นักศึกษาสายอาชีพได้ฝึกปฏิบัติ และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย ขณะเดียวกัน ตนได้หารือกับ นางคอร์นีเลีย ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศเยอรมนีจะส่งอาสาสมัครของเยอรมนีมาสอนภาษาเยอรมันให้กับครูไทยมากขึ้นเพื่อฝึกให้มีความเชี่ยวชาญ และนำไปสู่การถ่ายทอดให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาเยอรมันมากขึ้น
ด้าน นางคอร์นีเลีย กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ มีความสำคัญมาก เพราะเป็นปีที่ทั้ง 2 ประเทศได้สถาปนาความร่วมมือกันครบ 150 ปี และปัจจุบันได้มีนักเรียนไทยไปศึกษาที่ประเทศเยอรมนี ปีละกว่า 1,000 คน และอยากให้เพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งนี้ ตนทราบว่าประเทศไทยจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาสูงมากกว่ากระทรวงอื่นๆ ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชม และนับว่า มีนโยบายสนับสนุนด้านการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ อยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของการเรียนการสอนสายวิชาชีพทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และในระดับอุดมศึกษา ให้โดยเฉพาะการเรียนสายอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่เยอรมันให้ความสำคัญมากมีการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพไปหลายสาขาแล้ว ซึ่งประเทศไทยเองนั้นก็มีบุคลากรที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเรียนรู้ด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ภายหลังการประชุมโต๊ะกลมเดือนเมษายนแล้วจะขอให้มีการจัดสัมมนาร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องคุณวุฒิวิชาชีพด้วย และในโอกาสนี้ตนได้เชิญ รมว.ศึกษาธิการ เดินทางไปประเทศเยอรมนีเพื่อดูบริษัทต่างๆ ที่ใช้แรงงานในสายอาชีพ และดูตัวอย่างโรงเรียนอาชีวะและมหาวิทยาลัยที่สอนสายอาชีพ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาของไทย