xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดแรงงานยันขึ้นค่าจ้าง 300 บาท 1 เม.ย.นี้แน่นอนใน 7 จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดแรงงานชี้ปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.เหมือนเดิมจนกว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด หลังศาลปกครองมีคำพิพากษาไม่คุ้มครองชั่วคราว เตรียมข้อมูลแจงศาลเพิ่มเติม

วันนี้ (21 มี.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) และประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลางกล่าวถึงกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเบื้องต้นไม่คุ้มครองฉุกเฉินการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากที่ผู้ประกอบการ 42 แห่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินในการบังคับใช้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และ นนทบุรี ปรับเพิ่มเป็นวันละ 300 บาทในวันที่ 1 เม.ย.นี้
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับคำพิพากษาของศาลที่ออกมานั้นเป็นเพียงมีคำพิพากษาเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ใช้คำพิพากษาที่ถึงที่สุด ดังนั้น เรื่องนี้ศาลจะมีการพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อคำพิพากษาเบื้องต้นออกมาเช่นนี้ ก็จะมีผลทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้เช่นเดิมตามประกาศของคณะกรรมการค่าจ้างกลางไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด หลังจากนี้ ศาลคงจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งในส่วนของคณะกรรมการค่าจ้างและผู้ประกอบการเข้าไปชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัย ซึ่งในส่วนของตนในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลางก็จะเตรียมข้อมูลต่างๆ ไว้เพื่อชี้แจงต่อศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการพิจารณาข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนของศาลปกครองกลาง พบว่า การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการ โดยพิจารณาตามกรอบของมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งได้มีการศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้าง โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นการพิจารณาทั้งข้อมูลที่ได้จากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง

ทั้งนี้ การพิจารณาข้างต้นเป็นไปตามขั้นตอน และการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นไปอย่างครบองค์ประชุม จากนั้นจึงได้มีประกาศคณะกรรมการค่าจ้างกลางออกมา ส่วนการที่ศาลปกครองจะพิจารณาว่าประกาศดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่ศาลปกครอง จะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น