xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองยกคำร้อง 41 บริษัท ไฟเขียวปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลาง ยกคำขอ 41 บริษัทเอกชนร้องระงับประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ ชี้ขั้นตอนก่อนออกประกาศฯของคณะกรรมการค่าจ้างถูกต้อง และเห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.

วันนี้ (20 มี.ค.) องค์คณะศาลปกครองกลาง ที่มี นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งยกคำขอ ของบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิคส์(ประเทศไทย) จำกัด และพวก ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน รวม 41 ราย ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พ.ย.54 ที่ให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้

ทั้งนี้ เหตุที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอดังกล่าว ระบุว่า การที่ศาลจะพิจารณาว่าประกาศดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไป แต่ข้อเท็จจริง

ทั้งที่ปรากฏในชั้นไต่สวนรับฟังได้ว่า ในการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี ครั้งที่ 12/2554 เมื่อวันที่ 17 ต.ค.54 ได้มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 เม.ย.55 โดยได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเที่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นๆ โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถทางธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพเศรษฐกิจทางสังคม โดยเป็นการพิจารณาทั้งข้อมูลที่ได้จากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดของทุกจังหวัด รวมทั้งข้อมูล ข้อคิดเห็นจากคณะทำงานศึกษานโยบายการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่มีรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานคณะทำงาน จึงเห็นได้ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอน และวิธีการตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541

อีกทั้งในการประชุมดังกล่าว องค์ประชุมของคณะกรรมการค่าจ้าง มีทั้งหมด 14 คน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามบัญชีที่เสนอ และได้มีการออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พ.ย.54 เสนอต่อ ครม.เมื่อ 22 พ.ย.54 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พ.ย.54 ดังนั้น ในชั้นของการพิจารณาคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศฉบับนี้ จึงยังไม่ปรากฏว่าประกาศฉบับนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่ไม่ครบองค์ประกอบ ทั้ง 3 ประการที่ศาลจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลา การบังคับตามประกาศฉบับนี้ได้ ตามมาตรา 66 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ประกอบข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543 จึงมีคำสั่งยกคำขอของบริษัท มูราตะ และพวก
กำลังโหลดความคิดเห็น