xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดแรงงานเชิญสภาอุตฯคุย 6 ก.พ.นี้ เคลียร์ขึ้นค่าแรง 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดแรงงานไม่หวั่นสภานายจ้างเตรียมฟ้องขึ้นค่าจ้าง 300 บ.ชี้ เป็นสิทธิที่ทำได้ มั่นใจหากฟ้องจริงชี้แจงได้ พร้อมเชิญสภาอุตฯหารือ 6 ก.พ.นี้ ด้านแรงงานหนุนขึ้นค่าจ้าง 300 บาท แต่หวั่นโรงงานลดโอที-จำนวนคนงาน
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์
วันนี้ (3 ก.พ.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานกรรมการค่าจ้างกลางกล่าวถึงกรณีสภาองค์การนายจ้าง 7 องค์กร มีมติจะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับมติคณะกรรมการค่าจ้างที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ ทำให้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และ ภูเก็ต ค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท โดยจะยื่นฟ้องภายหลังจากที่มติดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.ว่า เรื่องการฟ้องร้องเป็นสิทธิของสภาองค์การนายจ้างที่สามารถดำเนินการได้ หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริง ทางกระทรวงแรงงานก็พร้อมที่จะไปชี้แจงข้อมูล ขั้นตอน และเหตุผลในการดำเนิการต่อศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้เชิญ ส.อ.ท.มาหารือเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทในวันที่ 6 ก.พ.นี้ เวลา 15.30 น.ที่กระทรวงแรงงาน

“กรณีที่สภาองค์การนายจ้างฯรอไปยื่นฟ้องหลังวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพื่อจะได้นำข้อมูลผลกระทบไปประกอบการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ผมมั่นใจว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคงไม่มีผลกระทบแน่ เพราะรัฐบาลได้เตรียมมาตรการต่างๆ รองรับไว้แล้ว เช่น มาตรการลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งในปีนี้จะลดจาก 30% เหลือ 27% รวมไปถึงการยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีทักษะและพฤติกรรมการทำงานที่คุ้มค่ากับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ” นพ.สมเกียรติ กล่าว

น.ส.นิภาพร แก้วบริวงศ์ วัย 27 ปี พนักงานฝ่ายผลิต บริษัท อัลตัม พรีซิซั่น จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า อยากให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เนื่องจากทุกวันนี้ค่าครองชีพและราคาสินค้าต่างๆเพิ่มสูงขึ้นอย่างตนทำงานได้ค่าจ้างวันละ 193 บาท หากรวมค่าสวัสดิการอื่นๆ เช่น โอที จะมีรายได้ภาพรวมเดือนละ 1.3 หมื่นบาท แต่ต้องเสียค่าเดินทาง ค่าอาหารวันละ 200 บาท รวมแล้วเดือนละ 6 พันบาท และค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคเดือนละ 3 พันบาท ทำให้มีเงินเหลือส่งให้ทางบ้านที่ จ.ลพบุรี เดือนละ 3 พันบาท

“การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เชื่อว่า มีทั้งข้อดีข้อเสียซึ่งข้อดีแรงงานได้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ส่วนข้อเสียจะทำให้รายได้ภาพรวมต่อเดือนของแรงงานลดลงโดยสถานประกอบการอาจจะลดโอที และลดจำนวนแรงงานลง อย่างไรก็ตาม หากสถานประกอบการไม่มีเงินพิเศษ เช่น ค่าโอที ก็อยากให้ช่วยเหลือแรงงานโดยมีสวัสดิการเช่น ค่ารถ ค่าที่พักให้แทนเพื่อช่วยแรงงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเหมาะสม” น.ส.นิภาพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น