กทม.เอกซเรย์ถนนพระราม 4 ยังไม่พบโพร่งใต้ดิน เผย ถนนมีคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดเส้นทาง เว้นจุดเกิดเหตุไร้เหล็กเสริมเร่งหาตัวผู้รับเหมา เตรียมขึ้นแบล็กลิสต์เหตุทำชุ่ย งดร่วมงานกับ กทม.
วันนี้ (21 มี.ค.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายวินัย ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) และเจ้าหน้าที่จาก สนย.นำเครื่องตรวจสภาพใต้พื้นดิน หรือ Ground Penetrating Radar (GPR) เพื่อตรวจสอบสภาพใต้พื้นดินในระดับไม่เกิน 2.5 เมตร และตรวจสอบโครงสร้างคอนกรีตใต้ผิวถนน โดยใช้คลื่นเรดาร์ในการสำรวจก่อนประมวลผล ตั้งแต่บริเวณถนนพระราม 4 ตั้งแต่หน้าอาคารลุมพินี ทาวเวอร์ ถึงแยกวิทยุ รวมระยะทาง 400 เมตร
จากนั้น นายธีระชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการสำรวจว่า การสำรวจวันนี้ไม่พบสิ่งผิดปกติ หรือโพรงใต้พื้นถนนพระราม 4 ซึ่งใต้ผิวถนนก็มีคอนกรีตเสริมโครงเหล็กตลอดเส้นทางที่สำรวจ ยกเว้นจุดเกิดเหตุที่พบว่าไม่มีเหล็กเสริม ดังนั้น ตนได้สั่งการให้ สนย.และสำนักงานเขตปทุมวัน ตรวจสอบว่า ผู้รับเหมารายล่าสุดที่ซ่อมแซมตรงจุดเกิดเหตุเมื่อปี 2546 เป็นใครที่ทำให้การซ่อมแซมถนนจุดนั้นไม่มีคอนกรีตเสริมโครงเหล็กตามมาตรฐาน หากพบก็จะขึ้นบัญชีดำทันที และไม่ให้มีสิทธิร่วมงานกับ กทม. นอกจากนี้ ได้ให้ สนย.ประสานไปยังวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ส่งคณาจารย์และนักวิชาการเข้ามาตรวจสอบถึงสาเหตุ ถ้า กทม.ไม่มีปัญหาเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำ และการประปาไม่มีปัญหาเรื่องท่อแตก อาจมีปัญหาเรื่องการรบกวนผิวดินหรือไม่ ในธรรมชาติเราไม่สามารถกลบดินลงไปในผิวดินเดิมได้ เนื่องจากจะมีฟองอากาศเกิดขึ้น ถ้ากดแน่นลงไปก็จะเป็นเนิน และเนินนี้ก็คือ ฟองอากาศ ในระยะยาวก็จะยุบลงไป ดังนั้น จึงต้องขอให้ วสท.ช่วยหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งตนได้ตั้งโจทย์ไว้ว่าน่าจะเกิดจากการที่ชั้นดินถูกรบกวนหรือไม่ จนทำให้ความหนาแน่นของดินน้อยลง โดยคาดว่าใน 2 สัปดาห์จะทราบผล
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า กทม.เหมือนคนแก่ต้องตรวจสุขภาพ ที่ผ่านมาได้ตรวจสอบสุขภาพใหญ่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เรื่องถนนที่มีทางแยกซึ่งมีสะพานลอยข้ามอยู่ โดยได้ซ่อมแซมสะพานลอยไปหลายแห่ง ซึ่งคือส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น เราอาจเอกซเรย์ตรวจสอบปอดไป แต่ยังมีอวัยวะส่วนอื่นอีกที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ อย่างเช่น ท่อระบายน้ำ ถนนหนทาง สาธารณูปโภค ที่อาจทำให้ไม่เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน รวมถึงมาตรฐานการออกแบบถนนนั้น ถนนลาดยางอายุการใช้งาน 7 ปี ถนนคอนกรีตอายุการใช้งาน 20 ปี หลายแห่งที่ตรวจสอบจะอายุเกิน เพราะฉะนั้นเราต้องบำรุงดูแลรักษา ที่ผ่านมา เราขาดการบำรุงรักษาในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนให้มีเรื่องหลายๆ เรื่องให้ช่วยกันดูแล ไม่ใช่แค่ กทม.เท่านั้นหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่ต้องช่วยกันดูแลบำรุงรักษาด้วย