“สุขุมพันธุ์” สั่งสำนักการโยธาเร่งตรวจสอบความแข็งแรงของถนนสายอื่นๆ ที่สร้างมานานและคล้ายคลึงกับจุดเกิดเหตุถนนพระราม 4 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุถนนทรุดตัวซ้ำรอย
วันนี้ (19 มี.ค.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ถึงกรณีที่ถนนพระราม 4 ฝั่งขาเข้า บริเวณใกล้ไฟแดงแยกวิทยุ ยุบตัวขนาด 5 x 3 เมตร และลึก 2 เมตร เมื่อช่วงเวลาประมาณ 19.00 น.ของวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมาโดยเบื้องต้นเมื่อคืนนี้ได้มีการสั่งการให้ติดไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อเป็นสัญญาณเตือนภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงให้สำนักการโยธาเร่งซ่อมผิวจราจรบริเวณดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งสำนักการโยธาดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อเวลา 03.00 น.ที่ผ่านมา สำหรับการดำเนินการซ่อมถนนเป็นการชั่วคราวนี้ กทม.ได้แจ้งให้การประปานครหลวง และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับทราบด้วยเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับผิดชอบร่วมกันของทั้งสามหน่วยงาน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า กทม.ได้หารือร่วมกับทั้งสองหน่วยงาน เพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงของสาเหตุการเกิดเหตุถนนยุบตัว รวมทั้งจะร่วมกันตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนี้ ได้ให้สำนักการโยธา กทม.ตรวจสอบความแข็งแรงของถนนสายต่างๆ ในความรับผิดชอบ เพื่อป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก โดยเริ่มจากถนนที่ก่อสร้างมาแล้วเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กทม.ได้มีการสำรวจและซ่อมแซมถนนไปบ้างแล้ว อาทิ ถนนพระราม 3
ด้าน นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันการดำเนินการตรวจสอบถนนสายต่างๆ ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการวัวหายล้อมคอก เนื่องจาก กทม.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนสาเหตุการทรุดตัวอาจเกิดขึ้นได้ในสองประเด็นหลัก คือ การขยายเมือง การก่อสร้างบ้านเรือน คอนโดมิเนียม การวางระบบท่อ ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และเรื่องของอุโมงค์ระบายน้ำของ กทม.ที่มีการก่อสร้างมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีแล้ว อาจมีการชำรุด สำหรับกรณีถนนพระราม 4 ยุบตัว เบื้องต้นดำเนินการแก้ไขเสร็จแล้ว ส่วนในระยะยาวต้องมีการสำรวจ ตรวจสอบถนน ท่อระบายน้ำที่มีการก่อสร้างมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อดำเนินการซ่อมแซม พร้อมกันทั้ง 50 เขต โดยให้สำนักการจราจรและขนส่งและสำนักการโยธา กทม. ดำเนินการร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตถนนที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงในการทรุดตัว นอกจากถนนที่มีการก่อสร้างมาเป็นเวลานานแล้ว ก็ยังมีถนนที่ก่อสร้างด้านบนท่อ หรืออุโมงค์ระบายน้ำที่เก่าหรือชำรุด ถนนที่สร้างเลียบคลองหรือมีคลองคู่ขนาน เช่น ถนนพระราม 3 ก็มีความเสี่ยงในการทรุดตัวเช่นกัน