xs
xsm
sm
md
lg

คาดอุโมงค์ระบายน้ำชำรุด ต้นเหตุถนนพระราม 4 ยุบตัว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สภาพหลุมขนาดใหญ่บนถ.พระราม 4 ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของถนน
ผู้ว่าฯ กทม.ร่วมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกหาสาเหตุถนนพระราม 4 ยุบตัวจนเป็นหลุมขนาดใหญ่ ด้านรองปลัด กทม.ยันสาเหตุน่าจะมาจากการชำรุดของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่บริเวณดังกล่าวทำให้ทรายถูกดูดลงไป จนกลายเป็นโพรงใต้ถนน

วันนี้ (19 มี.ค.) เวลา 09.00 น. ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสวนลุมพินี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจุมพล สำเภาพล รองปลัด กทม.รับผิดชอบงานด้านการโยธา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมจากเหตุการณ์ถนนพระราม 4 ฝั่งขาเข้า บริเวณใกล้ไฟแดงแยกวิทยุ ยุบตัวขนาด 5 x 3 เมตร และลึก 2 เมตร เมื่อช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 18 มี.ค.55

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า เบื้องต้นเมื่อคืนนี้ได้มีการสั่งการให้ติดไฟฟ้าแสงสว่างเพิ่มเติม เพื่อเป็นสัญญาณเตือนแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ผ่านบริเวณดังกล่าวและให้สำนักการโยธาเร่งซ่อมผิวจราจรเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อเวลา 03.00 น.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กทม.ได้แจ้งให้การประปานครหลวง และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับทราบด้วยเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับผิดชอบร่วมกันของทั้งสามหน่วยงาน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้หารือร่วมกับทั้งสองหน่วยงาน เพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงของสาเหตุการเกิดเหตุถนนยุบตัว อีกทั้งร่วมกันตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนี้ ได้ให้สำนักการโยธา กทม.ตรวจสอบความแข็งแรงของถนนสายต่างๆ ในความรับผิดชอบ เพื่อป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก

นายจุมพลเปิดเผยผลการประชุมเพื่อสาเหตุกรณีเกิดถนนทรุดว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นเชื่อได้ว่าสาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจากอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ของ กทม.บริเวณพระราม 4 ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมากที่สุดเกิดการชำรุดเสียหาย เพราะใช้งานมาตั้งแต่ปี 2515 รวมอายุการใช้งานกว่า 40 ปีแล้ว ส่งผลให้เศษทรายหรือวัสดุที่อยู่บริเวณใต้ถนนถูกดูดและไหลหายเข้าในอุโมงค์ระบายน้ำดังกล่าวมากจนทำให้ถนนเกิดทรุดตัว พร้อมกันนี้อุโมงค์ดังกล่าวเกิดการทรุดตัวมาแล้ว 2 ครั้ง จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญและไม่น่าจะเกี่ยวกับระบบการก่อสร้างของถนน รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินด้วย เนื่องจากมีระบบป้องกันและวางแผนการก่อสร้างเป็นอย่างดี แต่เบื้องต้นได้ให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความเสียหายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อทำการป้องกัน และตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น