กทม.ส่งหุ่นยนต์ตรวจท่อระบบน้ำเสียใต้ถนนพระราม 4 เผย ไม่พบรอยรั่ว หรือสิ่งผิดปกติ เตรียมสำรวจอุโมงค์พระราม 4 พรุ่งนี้
วันนี้ (20 มี.ค.) เวลา 11.00 น.ที่ถนนพระราม 4 นายอดิศักดิ์ ขันตี รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กว่า 50 คน นำรถดูดน้ำและรถดูดเลน ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบท่อระบบน้ำเสียที่อยู่ใต้ดินว่ามีการชำรุดเสียหายหรือไม่ โดยปิดการจราจรตั้งแต่เชิงสะพานไทย-เบลเยียม จึงถึงแยกวิทยุฝั่งขาเข้า โดย นายอดิศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการสำรวจ ว่า บริเวณใต้จุดเกิดเหตุลึกลงไปจากพื้นถนน 6 เมตร พบว่า เป็นท่อระบบน้ำเสียช่องนนทรี เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ไม่ใช่อุโมงค์ระบายน้ำพระราม 4 ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ สนน.ได้นำอุปกรณ์ดูดนำและดูดเลนออกจากท่อระบายน้ำให้เหลือน้ำในท่อลึกประมาณ 15 เซนติเมตร โดยเปิดฝ่าท่อ 2 จุด คือ จุดเชิงสะพานไทย-เบลเยียม และแยกถนนวิทยุ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำหุ่นยนต์ลงสำรวจ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ระบบไฟฟ้า มีลักษณะเป็นล้อตีนตะขาบติดกล้องตรวจสอบ เพื่อถ่ายภาพด้านในท่อ และมีไฟเพื่อส่องแสงสว่าง ใช้รีโมตบังคับ สามารถวิ่งสำรวจในน้ำได้ลึกไม่เกิน 20 เซนติเมตร โดยสำรวจระยะทาง 105 เมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจไม่พบรอยรั่วของท่อ จึงสามารถใช้งานได้ตามปกติ ส่วนอุโมงค์พระราม 4 ที่อยู่ใกล้กัน จะมีการสำรวจในวันพรุ่งนี้ โดยใช้วิธีการเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน คาดว่า จะใช้ระยะเวลาในการสำรวจนานกว่า เนื่องจากอุโมงค์มีความกว้างกว่ามากถึง 35 เมตร อีกทั้งภายในมีแก๊สมากกว่า ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่า ไม่น่าจะมีปัญหา แม้ว่าจะมีอายุการใช้งานมานานก็ตาม เพราะอยู่ใต้ดิน ไม่ได้มีอะไรมากระทบ ส่วนท่อน้ำของการประปานครหลวง (กปน.) คิดว่า เร็วๆ นี้ คงมีการสำรวจเช่นกัน แต่ในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อยู่ด้านล่างสุด คาดว่า คงไม่มีปัญหา
ด้านนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงมาตรการดูแลถนนในพื้นที่ ภายหลังเกิดเหตุถนนพระราม 4 ทรุดตัว ว่า จากนี้จะมีการตรวจถนนสายหลัก สายรอง และถนนที่สร้างมานานในกรุงเทพฯ ว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทรุดตัว ซึ่งส่วนหนึ่งจะมีการนำกล้องเข้าไปตรวจสอบภายในอุโมงค์ และท่อระบายน้ำว่ามีรอยรั่วหรือไม่ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เข้มงวดการตรวจความแข็งแรงของถนน เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทำให้จากนี้ต้องยกระดับการดูแลให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เตรียมเชิญหน่วยงานที่ให้บริการระบบสาธารณูปโภค อาทิ การประปานครหลวง (กปน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นต้น มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความปลอดภัยในกรุงเทพฯ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน