xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงาน ชง ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เข้า ครม.เน้นขยายสิทธิประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน เล็งร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เข้าครม.เผย ปรับปรุงเนื้อหา 6 ข้อ เน้นขยายสิทธิประโยชน์ว่างงานจ่ายค่าจ้างให้แรงงานหยุดงานจากปัญหาน้ำท่วม งดเก็บเงินค่าปรับนายจ้างจ่ายเงินสมทบล่าช้า กำหนดให้ผู้ประกันตนไม่มีทายาททำหนังสือมอบสิทธิประโยชน์บำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ใดก็ได้

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง..) เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.....ซึ่งแก้ไขปรับปรุงจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ทำให้ร่างกฎหมายต้องตกไปในที่สุด

ทั้งนี้ ตนจึงได้ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงแรงงาน เมื่อผ่านความเห็นชอบก็จะเสนอต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และหาก ครม.ให้ความเห็นชอบก็จะส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเนื้อหาร่างกฎหมาย หลังจากนั้น ก็เสนอเข้าสู่สภาฯต่อไป

นายโกวิท สัจจวิเศษ ผอ.กองนิติการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ....ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงแรงงานแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ รมว.รง.เพื่อนำเข้า ครม. ทั้งนี้ สาระสำคัญหลักๆ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ได้แก่ 1.การขยายการคุ้มครองของระบบประกันสังคมไปสู่ลูกจ้างหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวัน 2.การขยายนิยามคำว่าทุพพลภาพโดยผู้ประกันตน ซึ่งสูญเสียอวัยวะถึงขั้นทุพพลภาพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนโดยไม่ต้องเป็นผู้ที่ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง

3.กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถลด หรืองดการเก็บเงินจากการค้างจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง ซึ่งกฎหมายกำหนดค่าปรับไว้ที่ร้อยละ 2 ของยอดเงินค้างชำระแต่ละเดือน 4.กรณีขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม โดยลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างเลยในช่วงหยุดงานจากปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากนายจ้างประสบปัญหาทางการเงิน หรือภาวะขาดทุนจนไม่สามารถจ่ายเงินค่าจ้างได้เลย ทางกองทุนประกันสังคมก็จะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง โดยจะพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นของนายจ้าง รวมทั้งพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป

5.การกำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีทายาท คู่สมรส หรือญาติรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จชราภาพแทนเมื่อเสียชีวิตสามารถทำหนังสือให้ผู้ใดก็ได้เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์นี้แทน และ 6.ขยายการรับสิทธิประโยชน์ทดแทนทุกกรณีจาก 1 ปี เป็น 2 ปี

นายโกวิท กล่าวอีกว่า การขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้แก่ลูกจ้างประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น น้ำท่วม ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างเลยในช่วงที่หยุดงานจากปัญหาน้ำท่วมนั้น จะต้องเกิดจากนายจ้างที่ประสบปัญหาอย่างหนักจริงๆ กระทั่งไม่มีกำลังจ่ายค่าจ้างเลย และจะต้องพิจารณาข้อมูลหลักฐานและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป ไม่ใช่อยู่ๆ สปส.จะไปจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่ว่างงานเลยทันที เพราะตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างกรณีให้ลูกจ้างหยุดงาน เนื่องจากเหตุฉุกเฉิน เช่น ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ

“หากร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้ผ่านสภาฯและมีผลบังคับใช้ทางสปส. ก็จะต้องมาจัดทำร่างกฎกระทรวงรองรับ ซึ่งจะต้องมาจัดทำรายละเอียดว่า จะจ่ายเงินกรณีว่างงานกี่เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง และจ่ายเป็นเวลากี่เดือน” นายโกวิท กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น