xs
xsm
sm
md
lg

สปส.เริ่มจ่ายเงิน DRG รักษาโรคร้าย เม.ย.นี้ ต้องใช้เงินเพิ่มปีละ 5 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประกันสังคมประกาศจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในตามกลุ่มโรคอย่างเป็นทางการแล้ว คาด เริ่มจ่ายเงินได้ตั้งแต่ เม.ย. ป็นต้นไป ยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้โรงพยาบาลเอกชน ยิ่งตั้งราคา RW สูงเท่ากับยิ่งหักเงินจากโรงพยาบาลไว้มากเท่านั้น

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับระบบการจ่ายเงินค่ารักษาแก่โรงพยาบาลคู่สัญญา จากเหมาจ่ายรายหัวมาเป็นการจ่ายตามกลุ่มโรคร่วม (DRG) ว่า คณะกรรมการการแพทย์ได้ออกประกาศใช้ระบบ DRG แล้วเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการชี้แจงและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะประชุมประกันสังคมจังหวัดทุกจังหวัดในวันที่ 29 ก.พ.-1 มี.ค.2555 จากนั้นจะประชุมโรงพยาบาลคู่สัญญาทั่วประเทศเพื่อชี้แจงแนวปฏิบัติกลางเดือน มี.ค.นี้

นพ.สุรเดช กล่าวต่อไปว่า หลังจากประกาศปรับระบบมาจ่ายตามกลุ่มโรคอย่างเป็นทางการแล้ว คาดว่า จะเริ่มจ่ายเงินได้จริงในเดือน เม.ย.เป็นต้นไป และมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ม.ค.2555 ด้วย

รองเลขาธิการ สปส.ยังกล่าวด้วยว่า อัตราค่าใช้จ่ายตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งเริ่มต้นที่ RW ละ 15,000 บาท นั้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่โรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด เพราะเป็นคำนวณจากตัวเลขที่สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ศึกษาไว้ รวมทั้งคณะอนุกรรมการที่ศึกษาเรื่องการปรับระบบการจ่าบเงินก็มาจากภาครัฐทั้งสิ้น ไม่มีตัวแทนฝ่ายเอกชนเข้าร่วมเลย

“อยากให้มองว่า สปส.ไม่ได้ปรับเพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัวนานแล้ว เดิมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,050 บาท/คน/ปี แต่ถ้าปรับเพิ่มจะต้องจ่าย 2,401 บาท/คน/ปี ซึ่งหลักการของเรา คือ จะกันเงินส่วนหนึ่งสำหรับผู้ป่วยในออกมาไว้ที่กองกลาง ถ้าโรงพยาบาลให้การรักษาถึงจะมาเบิกค่าใช้จ่ายได้ ฉะนั้นยิ่งตั้งราคา RW ไว้สูงมากก็เท่ากับหักเงินจากโรงพยาบาลมากด้วย” นพ.สุรเดช กล่าว

นพ.สุรเดช ยกตัวอย่างว่า สมมติมีผู้ป่วย 1 หมื่นราย มี RW ทั่วประเทศ 1 แสน RW เท่ากับต้องกันเงินออกมากว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งในทางปฏิบัติ สปส.ยังกันเงินออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวมากกว่านี้อีกด้วย

“ค่าใช้จ่ายที่คำนวณออกมา เราศึกษาจากต้นทุนต่อหน่วยในการรักษาผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลศูนย์บางแห่ง รวมทั้งข้อมูลราคาเรียกเก็บ หรือราคาขายของโรงพยาบาลในระบบทั่วประเทศย้อนหลัง 3-4 ปี ตัวเลขนี้ สวปก.ช่วยเราศึกษาด้วย โดยดูว่าราคาขายทั้งยาและอุปกรณ์ต่างๆ สูงกว่าราคาต้นทุนเท่าใด แล้วก็เอาไปหักส่วนลดเท่านั้น จากนั้นจึงมาคำนวณว่าราคาที่ควรจะเป็นอยู่ที่เท่าใด ซึ่งก็ใกล้เคียงกับต้นทุนของโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ในระดับมหาวิทยาลัย แต่ถ้าต้นทุนของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะต่ำกว่านี้ เพราะทุกครั้งที่ประชุมกัน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขจะบอกว่าข้อมูลที่มีเป็นข้อมูลที่ Under Report เก็บเงินไม่ครบบ้าง ฯลฯ ฉะนั้น ถ้าไม่มีตัวเลขที่น่าเชื่อถือกว่านี้เราก็ต้องศึกษาโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่” รองเลขาธิการ สปส.กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวว่า คนภายนอกอาจมองว่า สปส.ตั้งราคาไว้สูงเกินไป แต่ยืนยันว่า เป็นตัวเลขที่ศึกษามาแล้ว เป็นตัวเลขที่ สวปก.ศึกษาให้กรมบัญชีกลางในการจัดระบบสวัสดิการข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ระบบสวัสดิการข้าราชการไม่ได้รวมค่าห้องและค่าแพทย์เข้าไปด้วย แต่ สปส.รวมเข้าไปด้วย ทำให้ตัวเลข RW ของ สปส.สูงกว่าของกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท จากเดิม 2.3-2.8 หมื่นล้านบาท/ปี เป็นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตาม ยังถือว่ารายได้ที่เก็บจากเงินสมทบยังสูงกว่าค่าใช้จ่าย และเชื่อว่า ไม่กระทบกับสถานะของกองทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น