“เผดิมชัย” ชี้ โอนผู้ประกันตนพร้อมงบค่ารักษา 2.3 หมื่นล้าน ไปให้ สปสช.แค่ความเห็นกฤษฎีกา ไม่มีผลผูกพันกับ สปส.เชื่อทำไม่ได้ เตรียมชี้แจงสัปดาห์นี้ ด้านรองเลขาธิการ สปส.ชี้ โอนไปจริงมีปัญหา แรงงานต่างชาติในระบบประกันสังคม ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล รอสปสช.นัดหารือหาข้อสรุปพร้อมฟังข้อเสนอฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นเรื่องการโอนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (สปส.) กว่า 9.4 ล้านคน ไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้ความเห็นว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท จาก สปส.ได้ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เรื่องความเสมอภาคว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ตีความในเรื่องนี้ เป็นเพียงการให้ความเห็นเท่านั้น และไม่มีความหมายผูกพันอะไรกับกองทุนประกันสังคม
“ผมมองว่า การที่จะโอนผู้ประกันตนพร้อมเงินสมทบไปให้แก่ สปสช.นั้นไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ตนจะชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เข้าใจตรงกันด้วย” รมว.รง.กล่าว
ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความนั้นเป็นเพียงความคิดเห็นว่ากฎหมายให้สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดก่อนในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ สปส.ที่จะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด แต่เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หากมีข้อสงสัยในความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็สามารถส่งเรื่องไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้
นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ช่วงท้ายความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า หากมีการโอนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสิทธิการรักษาพยาบาลของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯกำหนดให้ สปสช.ดูแลการรักษาพยาบาลเฉพาะคนไทยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆในขณะนี้ เพราะจะต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างบอร์ดของกองทุน สปส.และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า จะส่งเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของภาครัฐไปให้ สปสช.หรือไม่ หรือจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งขณะนี้สปส.กำลังรอการนัดหารือจากสปสช. รวมทั้งจะต้องนำข้อเสนอต่างๆของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมาประกอบการพิจารณาด้วย
“ถ้าผลสรุปออกมาในกรณีโดยทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุมถึงผู้ประกันตนด้วย ทุกฝ่ายก็จะต้องมาหารือกันอีกว่า จะยกเลิกเก็บเงินสมทบในส่วนของค่ารักษาพยาบาลไปเลย หรือจะเก็บเงินสมทบในส่วนของค่ารักษาพยาบาลต่อไปแล้วนำเงินสมทบในส่วนนี้มาใส่ไว้ในกองทุนชราภาพแทนหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็จะต้องมาดูว่าจะแก้ไขกฎหมายประกันสังคมมาตราใดบ้าง” นพ.สุรเดช กล่าว