xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้าง-ลูกจ้าง ค้าน ควักเงินประกันสังคมจ่ายค่ารักษาให้ สปสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจ้าง-ลูกจ้าง ประสานเสียงค้าน ควักเงินประกันสังคมจ่ายค่ารักษาให้ สปสช.ชี้ สร้างความเหลื่อมล้ำเหมือนเดิม ยัน หาก สปสช.คิดเงินค่ารักษาผู้ประกันตน รัฐต้องอุดหนุน เหมือนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ด้าน รองเลขาฯ สปส.แจง ผลพิจารณาของกฤษฎีกา แค่ความเห็นทางกฎหมาย ต้องให้ศาล รธน.ชี้ขาด

วันนี้ (5 มี.ค.) จากกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความเรื่องการโอนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (สปส.) จำนวน 9.4 ล้านคน ไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้ความเห็นว่า สปสช.สามารถเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล 2.3 หมื่นล้านบาท จาก สปส.ได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เรื่องความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้เป็นเพียงความคิดเห็นทางกฎหมาย ส่วนอำนาจชี้ขาดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การที่คณะกฤษฎีกาตีความนั้นก็เป็นความคิดเห็นทางกฎหมาย จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดก่อน รวมทั้งจะต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างบอร์ดของทั้ง 2 กองทุนฯ ส่วนการจะส่งเงินสมทบในส่วนของภาครัฐไปให้ สปสช.หรือไม่นั้น ก็ต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง หลังจากนั้น ทางบอร์ด สปส.ก็จะนำเรื่องมาพิจารณาอีกทีหนึ่งเพื่อหาข้อสรุป

ด้าน นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวว่า จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่า สปส.จ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนโดยไม่ได้แยกว่าใช้เงินของผู้ประกันตน ดังนั้น เจตนารมณ์ของกองทุนสปส.คือ ไม่มีการแยกส่วนของเงิน จึงไม่อาจแยกส่วนเพื่อส่งเงินให้กับ สปสช.ได้ จุดนี้ผมมีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะอยากจะให้แยกเรื่องสิทธิการรักษาออกจากสิทธิประโยชน์อื่น เพราะผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินค่ารักษาอยู่กลุ่มเดียว ซึ่งทำให้ระบบการรักษาเกิดความเหลื่อมล้ำ

“ปัจจุบันนี้ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบตามกฎหมาย จึงมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์อื่นทดแทน อย่าง เงินประกันการว่างงาน เงินบำนาญชราภาพ เป็นต้น ส่วนสิทธิการรักษาถ้าหากจะต้องจ่ายเงินสมทบก็อยากให้ได้รับการรักษาที่ดีตามเงินที่ต้องจ่าย หรือไม่ก็ได้รับการรักษาเหมือนกับสิทธิบัตรทอง แต่ก็ไม่ต้องให้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินในส่วนสิทธิการรักษาเช่นกัน เหมือนกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากให้ทาง สปส.นำเงินสมทบส่วนของลูกจ้างและนายจ้างไปเพิ่มในส่วนของสิทธิ์ประโยชน์ด้านอื่นๆ แทน ส่วนที่เป็นสิทธิ์รักษาพยาบาลก็อยากให้เป็นความรับผิดชอบของทางภาครัฐเหมือนกับสิทธิ์บัตรทอง เพื่อความเท่าเทียมกัน เพราะหากนำเงินในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างไปให้กับสปสช.เพื่อใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลก็เท่ากับว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น