xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานหญิงพันคนบุกทำเนียบ‏ โอดเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนาสตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานหญิงกว่า 1 พันคน เดินรณรงค์จี้รัฐบาลดูแลแรงงานหญิงได้รับผลกระทบน้ำท่วม เผย แรงงานยังไม่กลับเข้าทำงานกว่า 1.6 แสนคนกว่าครึ่งเป็นหญิง โอดเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนาสตรี วอนเพิ่มศูนย์เด็กเล็กในโรงงาน ดูแลสวัสดิการ-จ่ายค่าจ้างกรณีลาคลอด


วันนี้ (8 มี.ค.) เวลา 09.30 น.กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ประกอบด้วย เครือข่ายแรงงานหญิงจากหลายภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่างๆรวมกว่า 1 พันคน ได้รวมตัวกันด้านหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อเดินขบวนรณรงค์ หลังจากนั้น ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางท้องฟ้าอันมืดครึ้มและมีฝนตกลงมาเล็กน้อยเพื่อเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน 6 ข้อ เนื่องในวันสตรีสากลปี 2555 ซึ่งตรงกันวันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี

น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า ในข้อ6 เรียกร้องมีเรื่องเร่งด่วนมี 2 เรื่อง คือ 1.การให้ความช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา โดยรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรมกับแรงงาน ทั้งการจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย หรือเงินชดเชยตามกฎหมาย การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ รวมถึงแก้ไขกรณีประกันการว่างงานให้ใช้สิทธิกรณีที่เกิดวิกฤตนายจ้างประกาศหยุดโรงงาน เนื่องจากเชื่อว่าในจำนวนแรงงานกว่า 5.1 หมื่นคน ที่ถูกเลิกจ้าง และอีก 1.6 แสนคน ที่ยังไม่กลับเข้าทำงาน มีแรงงานหญิงกว่าครึ่งที่ได้รับผลกระทบ เพราะแรงงานหญิงมีสัดส่วนมากถึง 17.6 ล้านคนหรือ ร้อยละ 46 ของผู้มีงานทำทั้งหมดกว่า 38 ล้านคน

“ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ผลิตจากการขูดรีดแรงงานราคาถูกจากพลเมืองของประเทศเพื่อส่งออกสินค้าที่ทำมาจากมือเล็กๆของแรงงานหญิง ซึ่งในทุกวันนี้ยังรวมไปถึงแรงงานข้ามชาติทั้งลาว พม่า และ กัมพูชา ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคกลาง แรงงานหญิงกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลายโรงงานย้ายฐานการผลิตไปจังหวัดอื่น และหลายแห่งก็ประกาศเลิกจ้าง ลดจำนวนคนงาน ดังนั้น ปัญหาเรื่องปากท้องครอบครัว กระทบต่อแรงงานหญิงที่ต้องดูแลครอบครัวต้องแบกรับภาระหนัก เนื่องจากนายจ้างไม่จ้ายค่าจ้าง ไม่กำหนดเวลาเปิดโรงงานให้ชัดเจน ถูกสั่งย้ายให้ไปทำงานต่างประเทศ ถ้าไม่ไปก็ให้ลาออก รวมทั้งนายจ้างเลิกจ้างไม่จ่ายเงินชดเชยแถมยังแจ้งประกันสังคมว่าคนงานลาออก ทำให้เสียสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 50” น.ส.ธนพร กล่าว

น.ส.ธนพร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน แรงงานหญิงนอกระบบไม่สามารถประกอบได้ในช่วงน้ำท่วมและหลายครอบครัวสูญเสียเครื่องมือประกอบอาชีพ ไม่สามารถหามาทดแทนได้ ขณะที่แรงงานหญิงข้ามชาติที่ประสบภัยน้ำท่วมพบปัญหาไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่ 2 คือ การเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ของกลุ่มแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งพบว่าเนื้อหาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกองทุนนี้มีข้อบกพร่องหลายเประเด็นเช่น การระบุนิยามองค์กรสตรีมีความหละหลวมโดยไม่มีการระบุระยะเวลาดำเนินการขององค์กร ซึ่งเกรงว่าอาจจะมีการรวมตัวกันเพื่อตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อของบประมาณได้ง่ายเกินไป และที่ผ่านมา การเข้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ เปิดโอกาสให้เฉพาะ มูลนิธิ สมาคม ต่างๆโดยไม่มีการพูดถึงสหภาพแรงงาน จึงอยากเสนอให้มีการตั้งตัวแทนแรงงานหญิงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดูแลกองทุนด้วย

นอกจากนี้ เรื่องที่ต้องติดตามอีก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การไม่จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานสำหรับแรงงานหญิงในย่านอุตสาหกรรม 2.การไม่รับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาลางานมาดูแลบุตรหลังคลอดได้ โดยต้องมีจำนวนวันลาสำหรับการคลอดและเลี้ยงดูบุตรไม่น้อยกว่า 3 เดือนครึ่ง และต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของค่าจ้างที่ได้รับ

3.การคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะเห็นว่าจะทำให้กลุ่มแรงงงานหญิงด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงบริการสาธารณูปโภคต่างๆ และ 4.ปัจจุบันแรงงานหญิงยังมีบทบาทในการมีส่วนร่วมตัดสินใจและวางแผนระดับนโยบายทั้งคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงาน และการมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นในทุกระดับ จึงควรเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงในคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงานและภาคการเมืองให้มากขึ้นเพื่อให้การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ คำนึงถึงบริบทการจ้างงานของแรงงานหญิงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น