xs
xsm
sm
md
lg

ผู้รับเหมาใต้จี้ออกมติเยียวยาน้ำท่วมปี 54 ขู่ปิดถนน ครม.สัญจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 14 จังหวัด เรียกร้องรัฐบาลออกมติเยียวยาผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ปี 54 พร้อมขู่เตรียมนำสิบล้อกว่า 500 คัน ปิดถนนประท้วงรับ ครม.สัญจรที่ภูเก็ต หากไม่ได้รับความสนใจ

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จ.ตรัง นายภูมิพัฒน์ ตรังสุวรรณ ประธานกรรมการชมรมผู้รับเหมาก่อสร้างภาคใต้ เรียกประชุมสมาชิกเพื่อสรุปปัญหาการเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในภาคใต้ จากอุทกภัยทั้ง 2 ช่วง ที่เกิดขึ้นในปี 2554 ของรัฐบาล หลังได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านไปยังหอการค้าไทย และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ไปแล้ว

โดยมีผู้รับเหมาก่อสร้างจาก 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 100 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและสรุปปัญหา โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันทางการเงิน ทั้งธนาคารกสิกรไทย กรุงไทย และกรุงเทพ ที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

นายภูมิพัฒน์ ตรังสุวรรณ ประธานคณะกรรมการชมรมผู้รับเหมาก่อสร้างภาคใต้ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดเหตุอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 จำนวน 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ภาคใต้ วันที่ 1 มี.ค.54-30 เม.ย.54 และช่วงที่ 2 ภาคกลาง และ กทม. ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.54 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างในจังหวัดทางภาคใต้ ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาจ้างก่อสร้างกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อผลกระทบต่างๆ ทำให้เกิดความล่าช้า จนไม่สามารถทำงานแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกอบการก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับจ้าง จึงต้องแบกรับภาระค่าปรับงานล่าช้า ซึ่งผู้ประกอบการมองว่า ไม่เป็นธรรม เพราะเกิดปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่ปัญหาส่วนต่างของผู้ว่าจ้าง

นอกจากนั้น ยังได้รับผลกระทบด้านการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานต้องกลับไปดูแล และซ่อมแซมบ้านพักที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เป็นเหตุให้แรงงานลดลง จนผู้ประกอบการไม่สามารถทำงานได้ตามปริมาณที่กำหนดในแต่ละวัน ส่งผลกระทบขาดแคลนวัตถุดิบและวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งผลกระทบเส้นทางการคมนาคมได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถขนส่งวัสดุอุปกรณ์และแรงงานได้ และที่สำคัญสถาบันทางการเงินไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเต็มวงเงิน ทำให้การเงินติดขัด หรือไม่มีเงินทุนหมุนเวียน

ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางผู้ประกอบการก่อสร้างภาคใต้ จึงได้ร้องเรียนไปยังรัฐบาล โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงและการช่วยเหลือที่เป็นไปได้ และอ้างอิงจากความช่วยเหลือในอดีต ที่เกิดเหตุจากอุทกภัยเหมือนกันมาเป็นข้อเรียกร้อง โดยขอให้รัฐบาลออกเป็นมติ ครม.ขยายเวลาก่อสร้างทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ช่วงที่ 1 จำนวน 150 วัน และช่วงที่ 2 จำนวน 180 วัน แต่ปรากฏว่า เหตุการณ์ได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานานแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งๆ ที่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติระดับชาติ ทำให้ได้รับผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งระบบ เนื่องจากงบประมาณด้านการก่อสร้างเป็นงบด้านการพัฒนาหลักของประเทศ และช่วยในการกระจายรายได้ครอบคลุมไปถึงรากหญ้าผู้ใช้แรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการเสียหายขาดทุน จนต้องหยุดกิจการไปแล้วประมาณ 30-40% มูลค่าความเสียหายกว่าแสนล้านบาท

ประธานกรรมการชมรมผู้รับเหมาก่อสร้างภาคใต้ กล่าวอีกว่า ทางผู้ประกอบการจะรอจนกว่ามติ ครม. จะออกมาจนถึงวันที่ 15 มี.ค.นี้ แต่ถ้าผลออกมาแล้ว ไม่เป็นที่พอใจและไม่เป็นธรรม ทางผู้ประกอบการจำเป็นที่จะใช้มาตรการกดดันรัฐบาล โดยการนำรถบรรทุกสิบล้อ ประมาณ 400-500 คัน ปิดถนนประท้วง ซึ่งอาจจะเป็นที่ จ.พังงา หรือ จ.ภูเก็ต ซึ่งจะมี ครม.สัญจร ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาช่วยเหลือต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น