สธ.เตรียมเสนอ ครม.ประกาศให้ 8 จ.ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหมอกควัน อำนวยความสะดวกในการแก่้ปัญหา ด้าน สธ.เตรียมพร้อมให้ รพ.รับผู้ป่วยจากควัน
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการจัดการปัญหาหมอกควัน ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 6 มี.ค.จะเสนอให้ 8 จังหวัดที่เกิดปัญหาหมอกควัน ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และท้องถิ่น เข้าแก้ปัญหาเรื่องไฟไหม้ที่เกิดขึ้นให้เบาบางลง รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะต้องดูแลด้านสุขภาพของประชาชน ก็พร้อมเปิดโรงพยาบาลในพื้นที่ เป็นจุดอพยพของผู้มีปัญหาจากหมอกควัน เช่น ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ ให้มาอยู่ในพื้นที่ปิด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน หากมีผู้ป่วยปริมาณมากก็พร้อมให้โรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงเตรียมพื้นที่เพิ่มแล้ว ซึ่งปัจจุบันในแต่ละวันมีผู้ป่วยเพิ่ม 10,000 กว่าราย โดยค่ามาตรฐานฝุ่นละอองต้องไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้พุ่งเกิน 200-300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแล้ว ซึ่งถือว่าอันตรายต่อสุขภาพ
นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงสถานการณ์หมอกควันใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ว่า จากการรายงานโรคของโรงพยาบาล 74 แห่งใน 8 จังหวัด โดยสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ จำนวน 21,152 ราย เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติที่ไม่มีหมอกควันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.4 ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่กลับมากในโรคหอบหืด มีผู้ป่วยถึง 5,608 ราย โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 โรคหัวใจและหลอดเลือดพบผู้ป่วย 21,805 ราย เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติร้อยละ 23 และโรคตาอักเสบ ระคายเคืองตา พบ 1,521 ราย เพิ่มขึ้นจากปกติร้อยละ 17 โดยหากแบ่งเป็นรายจังหวัด ในแต่ละกลุ่มโรคจะพบว่า โรคทางเดินหายใจโดยภาพรวมพบมากที่ จ.ลำพูน ถึง 756 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ แม่ฮ่องสอนจำนวน 669 รายต่อแสนประชากร
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนโรคหอบหืดพบมากที่ จ.ลำพูน ถึง 166 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ พะเยา จำนวน 158 รายต่อแสนประชากร และแม่ฮ่องสอน จำนวน 157 รายต่อแสนประชากร ขณะที่โรคหัวใจและหลอดเลือดพบมากที่ จ.ลำพูน ถึง 840 รายต่อแสนประชากร รองลงมา คือ จ.เชียงราย จำนวน 613 รายต่อแสนประชากร และกลุ่มโรคตาอักเสบ พบมากที่สุดจ.พะเยา จำนวน 50 รายต่อแสนประชากร รองลงมา คือ แม่ฮ่องสอน 46 รายต่อแสนประชากร และ จ.ลำปาง จำนวน 42 รายต่อแสนประชากร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่า จ.ลำพูน น่ากังวลสุด แต่ข้อมูลอาจไม่อัปเดตมากจริงๆ เนื่องจากไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลใน 8 จังหวัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลเพียงกว่า 70 กว่าแห่ง และบางโรคก็เป็นในผู้ป่วยรายเดิม เพียงแต่หมอกควันอาจเป็นตัวกระตุ้นเท่านั้น
นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า สารพิษดังกล่าว เป็นสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของวัชพืชและไม้ชนิดต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ และเศษฝุ่นต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เสี่ยงเกิดภาวะ หอบ หืด หลอดลมอักเสบ หากได้รับการสูดดมควันพิษระยะยาวจะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือ โรคปอดรวมทั้งยังอาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย แต่จะไม่ใช่การซึมเข้าทางผิวหนังจนก่อโรค เพราะแก๊สพิษและฝุ่นต่างๆ หากโดนที่ผิวหนัง และดวงตา จะเกิดอาการแสบ คัน และเป็นพดผื่น ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และ เด็ก ควรหลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่มีแก๊สพิษและฝุ่นอยู่จำนวนมาก ไม่อยู่กลางแจ้ง ใช้หน้ากากอนามัย ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิดยามเกิดมลพิษฝุ่นควัน