xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรค ชี้ จว.ชายแดนลุ่มน้ำโขงต้องเฝ้าระวัง “ไข้เลือดออก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ประชุมภาคปฏิบัติการ พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวัง โรคติดต่อในจังหวัดชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง เตรียมรับมือการเคลื่อนย้ายประชากรเข้า-ออกประเทศที่เพิ่มขึ้น

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่โรงแรมวิวโขง จ.นครพนม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมพร้อมสำหรับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจากข้อตกลงการจัดทําเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) จะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรและสินค้าเพิ่มมากขึ้น และเกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศได้ โดยเฉพาะการแพร่โรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญ เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้หวัดนก อหิวาตกโรค เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และวัณโรค เป็นต้น โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ในการบริหารจัดการ และพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมโรคระหว่างประเทศจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ด่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในอำเภอชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ผู้รับผิดชอบงานสาธารณสุขชายแดนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 7 จังหวัด เจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งผู้แทนจากสำนักที่เกียวข้องจากส่วนกลางของกรมควบคุมโรค ซึ่งการประชุมประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายและทิศทางการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อชายแดน” และ “ความร่วมมือการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อชายแดน” นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายหมู่ การแบ่งกลุ่มวิเคราะห์สถานการณ์และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาศักยภาพและแนวทางการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นพ.สุวรรณชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ของโรคติดต่อบริเวณชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงในพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี พบว่าโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) ในปี 2554 มีรายงานโรคไข้เลือดออก จำนวน 4,186 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 65.99 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต 2 ราย อัตราตายเท่ากับ 0.03 อัตราป่วยตายเท่ากับร้อยละ 0.05 โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) มีรายงานโรคไข้มาลาเรีย จำนวน 772 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 12.17 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) มีรายงานโรคเลปโตสไปโรซิส จำนวน 643 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 10.1 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

“ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงมีความคาดหวังให้เกิดผล 5 ประการ คือ 1. มีระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคในพื้นที่ชายแดนที่เข้มแข็ง และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างเครือข่าย 2. มีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ที่มีประสิทธิผล รวมถึงมีการสอบสวนโรคร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในกรณีที่มีการระบาดของโรคเกิดขึ้น 3. ด่านป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ 4. มีแผนงานการป้องกันควบคุมโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญในบริเวณชายแดน เช่น วัณโรค โรคเอดส์ หรือโรคอุบัติใหม่ที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น ไข้หวัดนก เป็นต้น และ 5. มีการผลักดันให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างจังหวัดชายแดน เพื่อการเตือนภัยและเฝ้าระวังโรคติดต่อที่สำคัญ ซึ่งจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น