xs
xsm
sm
md
lg

จับโกหกเขตปทุมวัน-กทม.ชาวซอยร่วมฤดีชนะคดี โรงแรมดิเอทัส มีสิทธิ์โดนทุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชาวซอยร่วมฤดี ชนะคดีประวัติศาสตร์ สร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย จับโกหกเขตปทุมวัน และ กทม.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบปล่อยผีอาคารสูงใหญ่ในเขตซอยแคบ เผย โรงแรมดิเอทัส มีสิทธิ์โดนทุบ หลังศาลปกครองกลางตัดสินซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตร ตลอดแนวจริง

วานนี้ (9 ก.พ.) เวลาประมาณ 10.30 น.ศาลปกครองกลางนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่ 1475/2551 คดีระหว่าง นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง นายแพทย์ สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์หลวง อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดี รวมทั้งสิ้น 24 ราย ซึ่งได้มอบอำนาจให้ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปุทมวัน ต่อศาลปกครองกลาง ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่น และเป็นผู้ใช้อำนาจ หรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชน คือ บริษัท ลาถประทาน จำกัด และ บริษัท ทับทิมทร จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมดิเอทัส ก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัด จนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2551

ศาลได้พิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้นำเสนอแล้วพิจารณา เห็นว่า ซอยร่วมฤดีซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ และเป็นสถานที่ตั้งอาคารที่พิพาทมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร ตลอดแนวจริง ตามข้อมูลการรังวัดของกรมที่ดิน ซึ่งได้ทำการรังวัดรังวัดสอบเขตทางตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ และได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปุทมวัน ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่กฎหมายกำหนดห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว นั้น เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร

“เนื่องจากอาคารที่เป็นข้อพิพาทได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นเรียบร้อย และเปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมแล้วในขณะนี้ จึงน่าจะเข้าข่ายในกรณีที่เป็นอาคารที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ กทม.และสำนักงานเขตปทุมวัน จะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่จะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมด หรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน หากไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง สำนักงานเขตฯ มีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งได้ และดำเนินการหรือจัดให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าวได้เอง โดยที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณอาคาร ผู้ควบคุมงาน และผู้ดำเนินการ จะต้องร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด” นายเฉลิมพงษ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น