xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยันเขตไม่ผิด รอคำสั่งศาลพร้อมรื้อโรงแรมดิเอทัสซ.ร่วมฤดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.รอคำสั่งศาลพร้อมสั่งรื้ออาคารดังในซอยร่วมฤดีทันที “ธีระชน” ชี้เจ้าของมีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ใน 30 วัน ยันเขตไม่ผิด คนผิดคือผู้ขออนุญาตเพราะรู้ดีที่สุด
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.
วันนี้(10 ก.พ.) เวลา 13.30 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวกรณีศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 30 วัน โดยให้ออกคำสั่งให้บริษัทลาภปราถนา จำกัด และบริษัททับทิมทร จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมดิเอทัส ให้รื้อถอนอาคารในซ.ร่วมฤดี เนื่องจากอาคารดังกล่าวก่อสร้างในถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร

นายธีระชน กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคาร ทำการรื้อถอนทันทีที่ได้รับคำสั่งศาล เนื่องจากสำนักงานเขตมีอำนาจหน้าที่แทนผู้ว่าฯกทม. หากเจ้าของไม่มีการรื้อถอนอาคารตามคำสั่ง สำนักงานเขตมีสิทธิ์เข้าไปรื้อถอน จากนั้นจะมาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับเจ้าของอาคารได้ อย่างไรก็ตามเจ้าของอาคารมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ ภายใน 30 วัน

นายธีระชน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้สำนักการโยธาใช้กรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา หากไม่มั่นใจในการออกใบอนุญาต หรือหากมีการยื่นแบบเป็นมาตราส่วนก็ขอให้ไปสำรวจหน้างานก่อน เนื่องจากกรณีนี้เจ้าของอาคารยื่นขอใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 39 ทวิ โดยเป็นการยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างดัดแปลงรื้อถอนหรือเคลื่อนย้าย อาคารโดยไม่ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ได้ โดยการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและต้องยื่นชื่อผู้รับผิดชอบอาคารและผู้ควบคุมอาคาร ซึ่งต้องเป็นผู้ได้รับ ใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ประเภทวุฒิสถาปนิกหรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทวุฒิวิศวกร ซึ่งสามารถก่อสร้างอาคารได้ทันที ตลอดจนการออกแบบที่เจ้าของอาคารยื่นมาเป็นการวัดถนนแบบมาตราส่วน อีกทั้งเจ้าหน้าที่กทม.ก็ไม่ได้ไปวัดพื้นที่จริง จึงทำให้เกิดความเคลื่อน เป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียน ขออำนาจศาลปกครองฯ ให้กรมที่ดินไปรังวัดถนนดังกล่าวจึงทำให้พบว่าถนนบางจุดวัดได้ไม่ถึง 10 เมตร ศาลจึงตัดสินตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ

"เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความ ผิดของสำนักงานเขต คนที่ผิดคือผู้ขออนุญาต ขณะเดียวกันผู้รับรองและผู้อนุญาตคือสำนักการโยธา หากตรวจสอบแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่กทม.มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ผมไม่อยากโทษเจ้าหน้าที่ เพราะยังไม่ได้เห็นคำสั่งศาล หากไปกล่าวโทษก่อน ข้าราชการจะเสียกำลังใจ ที่สำคัญที่สุดเจ้าของอาคารเป็นคนรู้ดีที่สุด ไม่ควรจะใช้วิธีหลบเลี่ยงขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนจะดำเนินการ" นายธีระชน กล่าว

นายธีระชน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างมีอยู่ 2 กรณี คือ 1. หากก่อสร้างไม่เกิน 4 ชั้น ให้ยื่นต่อพนักงานท้องถิ่นหรือผอ.เขต แต่หากก่อสร้างเกิน 4 ชั้น ให้ยื่นต่อกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา (สนย.) กรณีที่ 2. การยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคารตามาตร 39 ทวิ ซึ่งเมื่อยื่นแล้วสามารถดำเนินการได้ทันที โดยผู้รับรองต้องเป็นวุฒิวิศวกรและวุฒิสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบอาคาร ซึ่งบริษัทเอกชนทั้ง 2 ยื่นขอใบอนุญาตในกรณีดังกล่าว

"ก่อนหน้าเคยมี การยื่นเรื่องร้องเรียนการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่ล้ำแนวถนนไปยังคณะกรรม สอบการทุจริตและประพฤติมิชอบในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพล.ต.อ.วสิษฎ์ เดชกุญชร เป็นประธาน แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็พบว่าเป็นพื้นที่ที่ติดกับถนน 2 ด้านซึ่งด้านหนึ่งเกินกว่า 10 เมตรจึงสามารถดำเนินการก่อสร้างได้"นายธีระชน กล่าว

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เพิ่งทราบจากข่าวเมื่อเช้านี้ จึงขออ่านคำสั่งศาลปกครองอย่างละเอียด แต่ถึงอย่างไรก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย หากทราบว่าเจ้าหน้าที่กทม. มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ต้องทำตามระเบียบ ตนไม่มีปัญหาอยู่แล้ว อีกทั้งการยื่นฟ้องร้องเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2551 ตนยังไม่ได้รับตำแหน่ง เป็นช่วงของการเลือกตั้ง

ด้านนายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตปทุมวันขณะนั้น กล่าวว่า ตนยังเห็นไม่เห็นรายละเอียดคำพิพากษา ขอดูเอกสารทั้งหมดก่อน และขอปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสำนักการโยธาก่อน เพื่อจะรายงานกับผู้บังคับบัญชาต่อไป

"ผมไม่สะดวกให้รายละเอียดข้อมูลในตอนนี้ ในตอนนั้นผมทำหน้าที่เป็นผอ.เขต ผู้อนุญาตใบอนุญาตคือสำนักการโยธา" นายสุรเกียรติ กล่าว

ขณะที่นางภาวิณี อามาตย์ทัศน์ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กล่าวว่า หากคำสั่งศาลฯ แจ้งมา ตนก็พร้อมออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารทันที ขึ้นอยู่ที่เอกชนจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่

แหล่งข่าวจากกทม.เผยว่า คดีนี้จะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่จะยืดเยื้อนับสิบปีแน่ เพราะฝ่ายบริษัทเจ้าของโครงการย่อมอุทธรณ์คำสั่งศาลโดยอ้างว่า สาเหตุที่ก่อสร้างโครงการเพราะได้รับหนังสือยืนยันจากทางเขตปทุมวันว่าถนนซอยร่วมฤดีมีความกว้าง 10 ม. ดังนั้นกทม.ก็ต้องไปตรวจสอบถึงข้อมูลในช่วงดังกล่าวกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรับผิดชอบโดยเฉพาะตำแหน่งผอ.เขตและผช.ผอ.เขตในขณะนั้น งานนี้อาจทำให้กทม.เสียหายนับร้อยล้านบาทได้ แต่รับรองคดียาวหลายปีแน่

“เท่าที่รู้ถึงสาเหตุที่รร.ดิเอทัสถูกแจ็คพอตอยู่เจ้าเดียวทั้งที่ในซอยร่วมฤดีนั้นมีตึกสูงอยู่หลายอาคารก็เพราะว่ามีเจ้าของที่ดินบริเวณนั้นต้องการจะลงทุนดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์จึงสอบถามไปยังเขตปทุมวันว่าความกว้างของถนนถึง10ม.หรือไม่ แต่กลับได้รับคำตอบว่าไม่ถึง จึงเกิดการรวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลว่าทำไมในเมื่อถนนกว้างไม่ถึง 10 ม. แล้วปล่อยให้ก่อสร้างรร.ดิเอทัสได้ดังกล่าว” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น