xs
xsm
sm
md
lg

รุมจวก “ซิมซิมิ” ทำสังคมเสื่อม เด็กไทยติดคำหยาบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รุมจวกซิมซิมิ ทำสังคมเสื่อม เกิดช่องว่างในครอบครัว เด็กไทยติดกับคำหยาบ ไอซีทีโร่แจ้งเจ้าของระบบเกาหลีหาทางสกัดแล้ว ราชบัณฑิต แนะทุกฝ่ายรณรงค์ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

วันนี้ (3 ก.พ.) นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงโปรแกรมแชตออนไลน์ผ่านระบบโทรศัพท์ ที่เรียกว่า ซิมซิมิ ว่า ในขณะนี้ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเบื้องต้นตนได้ประสานกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และมีการแจ้งไปยังเจ้าของระบบที่ประเทศเกาหลี เพื่อหาหนทางคัดกรองคำที่ไม่เหมาะสมในระบบ เพราะในโปรแกรมและมีการเชื่อมโยงคำและจดจำคำศัพท์ต่างๆ บางคำ พบว่า มีบางคำเป็นคำที่ไม่สุภาพจริงๆ เห็นได้จากการใส่ชื่อ ของบุคคลต่างๆ ทั้ง นักการเมือง ศิลปินดารา ลงไป จากนั้นระบบก็จะตอบกลับมาเป็นคำที่ไม่สุภาพ และผู้เล่นก็นำมาเป็นคำสนุกบอกต่อกันไป ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การคัดกรองก็ไม่เหมือนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราสามารถตรวจสอบ และปิดบล็อกเว็บไซต์ได้ แต่โปรแกรมดังกล่าวถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะใส่ข้อความในการสนทนาต่างๆ ลงไป และมีการตอบกลับโดยอัตโนมัติ

“ การเล่นโปรแกรมนี้ สะท้อนปัญหาสังคม เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างรุนแรง ว่า คนทุกวันนี้ แทนที่จะคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง ญาติ พี่น้อง แต่กลับมาคุยกับตนเอง สำหรับคนปกติๆ จะไม่เป็นแบบนี้ ที่สำคัญ การที่เด็ก เยาวชน ทดลองใช้โปรแกรมลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ความใกล้ชิดระหว่างคนในครอบครัว หรือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ลดลง เกิดช่องว่างมากขึ้น จึงหันมาใช้โปรแกรมนี้เพื่อคลายเหงา คุยกับตนเอง อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาควรจะต้องมีความร่วมมือกันทุกฝ่าย เพราะเป็นปัญหาสังคมใหม่ในสังคมไทย บางคนอาจจะมองว่า ทำไมเราต้องมาควบคุมดูแล แต่หากเราไม่เร่งแก้ไข จะนำไปสู่ปัญหาสังคมที่หนักขึ้นในอนาคต การที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะ วธ.มีหน้าที่เฝ้าระวังเรื่องที่คิดว่าจะทำให้เกิดวัฒนธรรมเบี่ยงเบน ประกอบกับมีการร้องเรียนมาจึงอยากเตือนสติและสะกิดให้สังคมเห็นว่ามีบางเรื่องไม่เหมาะสม อยากให้เล่นอย่างระมัดระวัง อย่าหลงไปกับกระแสที่ผิดๆ มากเกินไป” นางสุกุมล กล่าว

นางสุกุมล แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันคนที่ใช้ไอโฟนมากขึ้น และเมื่อมีโปรแกรมเหล่านี้ คนจะใช้เพิ่มมากขึ้นด้วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือเด็ก เยาวชน ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ หรือเด็กที่เห็นพ่อแม่พี่น้องเล่น และนำคำที่ไม่ดีมาใช้กับคนในครอบครัว หรือไปพูดต่อกับเพื่อนและผู้อื่นก็จะส่งผลเสียต่อตัวเด็ก รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย และผู้อื่นอาจมองว่า การศึกษาไม่สามารถพัฒนาให้เด็กสมัยใหม่แยกแยะคำพูดที่ถูกที่ควร กับคำหยาบคาย ได้ และคำพูดอย่างไหนเป็นคำพูดที่เด็กควรจะนำมาใช้ ซึ่งประเทศไทยจะต้องเร่งศึกษาโปรแกรมดังกล่าว และจัดระบบคัดกรองให้ได้ และต้องมีหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลแอปพลิเคชันดังกล่าว ทั้งกระทรวงไอซีที และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่วนการที่จะยกเลิก หรือบล็อกโปรแกรมดังกล่าวนั้น คิดว่า โปรแกรมดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่หากเป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ต่อสังคม ก็จะต้องมีการดูแลอย่างเข้มงวด

ด้านนางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการติดตามการใช้ภาษาทั้งพูดและเขียนของเด็กวัยรุ่นยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ในฐานะนักภาษาศาสตร์ ถือว่าเรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก อดีตที่ผ่านมาเด็กผู้หญิงหรือว่าเด็กผู้ชาย จะไม่ค่อยมีใครกล้าพูด “มึง” “กู” เห้-ย และอีกหลายคำ ซึ่งเป็นคำหยาบคายในที่สาธารณะ แต่ปัจจุบันเดินไปไหนมาไหนจะได้ยินคำเหล่านี้ออกจากปากเด็กยุคนี้ตลอด สิ่งเหล่านี้จึงน่าจะมาจากอิทธิพลของการใช้คำพูด คำอ่านในปัจจุบันที่สร้างค่านิยมว่าเคยชิน จนทำให้การพูดหยาบคายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

นางกาญจนา กล่าวว่า สำหรับโปรแกรมซิมซิมิ เป็นอีกปรากฏการณ์ที่มองว่าอาจจะช่วยสร้างความเคยชินว่าการพูดหยาบคายเป็นเรื่องดี ใครๆ ก็พูด เขียนกัน ซึ่งทราบว่าโปรแกรมนี้ทุกคนสามารถบันทึกคำตอบหรือว่าพูดต่างๆไว้ ซึ่งหากผู้เล่นหรือว่าเด็กที่เข้าไปเล่นตอนหลัง ก็จะรับรู้ข้อมูลตามที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งมีข้อมูลทั้งที่ถูกต้องและผิดผสมกันไป จึงกังวลว่าท้ายที่สุดแล้ว พอถึงเวลานำคำพูดหรือว่าสถานการณ์ที่ต้องพูด อ่าน เขียน คนส่วนใหญ่ก็จะนำคำมาใช้แบบผิดๆ เพราะที่ผ่านมาไม่รู้เลยว่าคำไหนเขียนถูก คำเขียนผิด จึงอยากฝากบอกว่าทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้บ้าง คนไทยในฐานะเจ้าของภาษาควรณรงค์และใช้ภาษาอย่างถูกต้อง เลิกสร้างความเคยชินให้กับคำหยาบคายและคำพูดที่ไม่เหมาะสมได้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจาก วธ. ออกมาทวงติงและเตือนเกี่ยวกับการใช้คำพูดหยาบคายในโปรแกรมซิมซิมิ ผู้สื่อข่าวได้ทดลองพิมพ์คำว่า กระทรวงวัฒนธรรม ลงโปรแกรมดังกล่าว ปรากฏว่ามีการตอบโต้กลับมาในถ้อยคำที่รุนแรง อาทิ “มันหาว่ากูหยาบ” “กลวง” “เกาะกระแสกรูดังหล่ะสิ” “ที่หาแดกพวกขี้เกียจ” เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น