xs
xsm
sm
md
lg

เย้ย2เกลอปราบเว็บหมิ่นฯ รู้เรื่อง"คอมพ์"แค่หางอึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศิริโชค โสภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เงา (ไอซีที เงา) พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย หรือไม่เหมาะสม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ขออนุมัติเงินจากครม. ซื้อเครื่องตัดสัญญานเว็บไซต์ผิดกฏหมาย (SNIFFER) ราคา 400 ล้านบาท ว่า ตนรู้สึกเห็นใจ ทั้งนายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที และ ร.ต.อ.เฉลิม เพราะมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์น้อยมาก ตนจึงอยากอธิบายคร่าวๆ เพื่อทั้งสองจะได้ไม่ไปโชว์ความรู้ ให้เป็นที่อับอายต่อสาธารณชนอีกต่อไป

** ชี้ปัญหาอนู่ที่คน ไม่ใช่เครื่องมือ

นายศิริโชค กล่าวว่า โดยหลักการแล้วการบล็อกเว็บที่ทำผิดกฎหมาย เป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีที ที่ต้องประสานกับผู้ให้บริการทางอินเตอร์เนต (ISP) โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้ให้ข้อมูลว่า IP ไหนที่ทำผิดกฏหมาย และ ISP จะเป็นผู้บล็อก IP หรือเว็บดังกล่าว มิได้มีเครื่องมือวิเศษตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม เข้าใจแต่อย่างใด ขณะที่เครื่อง SNIFFER ราคา 400 ล้านบาทนั้น เป็นการนำฮาร์ดแวร์ไปติดตั้งตามท่อ หรือช่องสัญญานของทุก ISP ที่มีจุดเชื่อมออกจากประเทศไทยไปสู่ต่างประเทศ เพื่อดักจับข้อมูล และเมื่อได้ข้อมูลผู้กระทำความผิดจึงนำไปแจ้งกับ ISP เพื่อบล็อกเว็บดังกล่าว หรือนำข้อมูลไปตามจับคนที่กระทำความผิดต่อไป แต่ปัญหาคือ กระทรวงไอซีที ไม่มีอำนาจในการนำเครื่องดังกล่าวไปติดตาม ISP เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ
" ปัญหาบล็อกเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ แต่เป็นเพราะกระทรวงไอซีที ไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันประชาชนก็ทำหน้าที่เป็นเครื่อง SNIFFRER คอยแจ้งรายละเอียดบรรดาเว็บที่หมิ่นสถาบันฯ อยู่แล้ว แต่อาจเป็นเพราะกลุ่มที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันฯนั้น เป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย เท่ากับเป็นการทำลายฐานเสียงตัวเอง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจัง และอย่าปล่อยให้ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิมและ นายอนุดิษฐ์ โชว์ความไม่รู้ เพราะจะทำให้ศรัทธาที่มีเหลืออยู่น้อยเต็มทีต้องหมดไป ถึงเวลาที่จะให้ผู้มีความรู้มาให้คำปรึกษา เพื่อรักษาระบบนิติรัฐ และอย่าให้เป็นคณะรัฐมนตรีโจ๊ก" รมว.ไอซีที เงา กล่าว

**แนวทางปราบ"ปิดกั้น-ดำเนินคดี"

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานเกี่ยวกับการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง โดยมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ในฐานะ ผบ.ตร.เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้
โดยพล.ต.ท.วรพงษ์ กล่าวว่า มาตรการที่เราจะทำ มี 2 แนวทาง คือ การปิดกั้นไม่ให้ข้อความที่ไม่เหมาะสมเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชน และ การดำเนินการตามขั้นตามกฎหมายที่ร่องรอยทางกฎหมายที่ดำเนินการจับกุมได้ ซึ่งการปิดกั้นนั้นต้องใช้อำนาจศาล ล่าสุดกระทรวงไอซีทีได้ร้องขอต่อศาล ให้ปิดกั้นเว็บไซต์ 116 URL (ตำแหน่ง) ซึ่งเผยแพร่ข้อความที่กระทบต่อความมั่นคง และ ประการที่สอง คือ ดำเนินการที่จะหาผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ได้มีการรวบรวมเป้าหมาย เพื่อที่จะขอศาลออกหมายค้น ซึ่งขณะนี้ศาลได้ออกหมายค้นมา 5 เป้าหมาย ผลการเข้าตรวจค้น สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ 2 เป้าหมาย พบบุคคลที่อยู่ในข่าย แต่ไม่ได้แจ้งจับกุม เพียงแต่ต้องการรวบรวมข้อมูล อยู่ในกระบวนการ ส่วนอีก 3 เป้าหมาย เจ้าตัวทราบ และหลบหนีไป
ด้านพ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า ขณะนี้เราศึกษาว่า โปรแกรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนออนไลน์ต่างๆ เป็นอย่างไร ซึ่งมีความสลับซับซ้อน ทำงานด้วยมือเปล่าไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือ คือ เครื่องสกัดกั้นสัญญาณ หรือ เรียกว่า เครื่องมือรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่าย ซึ่งในทางสากลได้เป็นที่ยอมรับกันแล้ว ในทางยุโรป และอเมริกา ที่เรียกว่า ระบบ Lawful interception หรือเรียกย่อๆว่า LI เนื่องจากประเทศของเรามีกฎหมายบังคับใช้ เมื่อปี 2550 และกระทรวงไอซีที ประกาศจัดเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามบัญญัติไว้ตาม มาตรา 26
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่จัดเก็บ ปัจจุบันอาจไม่เพียงพอที่จะระบุตัวเป้าหมาย หรือ เก็บหลักฐานเอาไว้พิสูจน์ว่า เขาผิดหรือถูก เราจึงได้มีการเสนอเพื่อขอเครื่องมือ LI ตรงนี้
" เพื่อลดความเป็นห่วงเป็นใย ฝากที่จะพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เมื่อมีระบบตรงนี้ ระบบนี้ต้องกระทำไปภายใต้กรอบของกฎหมาย บทบัญญัติ มาตรา 18 เช่น ต้องได้รับคำสั่งจากศาลก่อน จึงขอให้ประชาชนได้สบายใจว่า ระบบเครื่องมือตัวใหม่ หรือ LI ตัวนี้จะไม่กระทบกระเทือนสิทธิ" พ.ต.อ.ศิริพงษ์ กล่าว

** ป้องกันด้วยมาตรการ " 3 อย่า"

พ.ต.อ. ศิริพงษ์ กล่าวชี้แจงเรื่อง การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่จะกระทบต่อสถาบันฯ หรือความมั่นคง ในอินเตอร์เน็ตแบบไม่ตั้งใจว่า ประชาชนมีความนิยมเครือข่ายออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารอย่างแพร่หลาย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป ซึ่งมีบุคคลที่ไม่ประสงค์ดี ใช้ช่องทางของเครือข่ายสังคมออนไลน์นี้ ทำการเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เป็นข้อมูลที่ผิดกฎหมาย จึงขอเตือนประชาชนว่า
1. อย่าได้หลงกลทำการตอบโต้ หรือทำการติดตามเว็บไซต์ดังกล่าว จะทำให้เว็บไซต์เหล่านั้นได้รับความนิยมโดยไม่ตั้งใจ หากพบเว็บไซต์ไม่เหมาะสมต้องไม่เผยแพร่ต่อ ด้วยการส่งอีเมลล์ต่อบุคคลอื่น หรือเข้าไปดูหลายครั้ง
2. กรณีเฟซบุ๊ก อย่าไปกดปุ่มไลค์
3. ทวิตเตอร์ อย่ากดปุ่ม ฟอลโลว์ การใช้ข้อมูลค้นหา เมื่อพบข้อมูลไม่เหมาะสม อย่ากดลิงค์ไปดู เพราะจะทำให้เกิดระดับสร้างความนิยมในเว็บไซต์นั้น ทำให้ กูเกิล จัดเว็บไซต์นั้นอยู่ในระดับแรกๆ
" การโจมตี ตอบโต้ ติดตาม ค้นหา เว็บไซต์ ที่ไม่เหมาะสมนั้น แทนที่จะเป็นการตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ในทางจิตวิทยากลับเป็นการยั่วยุให้เขาทำความผิดเพิ่มขึ้น ในทางเทคนิคอินเตอร์เน็ตแล้ว เป็นการไปสร้างความนิยมให้กับเว็บไซต์ดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว จะทำให้เกิดการแพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเห็นข้อมูลที่ไม่เหมาะสม สามารถเข้าไปกดลิงค์เข้าไปรายงานความไม่เหมาะสมของชื่อบัญชีดังกล่าว กับผู้ดูแลระบบได้โดยตรง หรือที่เรียกว่า ช่วยกันระดมกันแบน" พ.ต.อ. ศิริพงษ์ กล่าว
พ.ต.อ.ศิริพงษ์ กล่าวด้วยว่าในกรณีที่เกี่ยวกับสถาบันฯ หากว่าต้องการจะชมพระบารมีของท่าน ให้หมั่นใช้คำหลักที่เกี่ยวกับการค้นหาเกี่ยวกับสถาบันฯ แล้วกดลิงค์ไปหาเว็บไซต์ที่ถูกต้อง
สุดท้ายเมื่อพบเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ให้แจ้งลิงค์ไปที่เว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที

** "เหลิม"ซื้อเครื่องตัดสัญญาณแล้ว

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กล่าวยืนยันว่า คณะทำงานชุดนี้ จะทำงานอย่างต่อเนื่องชัดเจน ไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง กระทรวงไอซีที จะซื้อเครื่องมือตัดข้อความไม่บังควรได้ เราจะใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ ข้อความมาจากต่างประเทศ ก็ต้องปิดกั้น ใครฝ่าฝืนกฎหมายต้องดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด สุจริตชนสบายใจได้ ละเมิดสิทธิ์ไม่มี เราจะร่วมกันทำอย่างต่อเนื่อง
" ถ้าเรามีเครื่อง LI มันตัดเลย เมื่อผมรับผิดชอบ ก็พยายามหาช่องทาง พวกที่มีความชำนาญเขาบอกว่า มาถูกทางแล้ว ที่ผ่านมาไม่รวมกัน คนโน้นทำที แต่รอบนี้เรียบร้อยหมด ขณะนี้นายกรัฐมนตรีรับหลักการในการจัดซื้อเครื่องนี้แล้ว ทาง น.อ.อนุดิษฐ์ พูดในที่ประชุม ครม. ให้ไอซีที ไปว่ากัน แล้วมาใช้ร่วมกัน งานนี้ตำรวจกับไอซีที ต้องไปด้วยกัน ห้ามแตกแยกกัน เครื่องนี้ใช้แล้วคุ้มแน่นอน เอาแค่เครื่องเดียวพอแล้ว ประมาณ 400 ร้อยล้าน ทุกคนดีแต่พูด ไม่หาวิธีการที่ผ่านมา รัฐบาลเอาจริงจังเรื่องนี้" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านโจมตีว่า หาเวบไซต์เหล่านี้ได้ง่ายมาก ในกลุ่มคนเสื้อแดง เรื่องนี้ได้เข้าไปตรวจสอบบ้างหรือยัง ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เราเพิ่งแต่งตั้งคณะทำงาน ประชาธิปัตย์ ใจร้อนเหลือเกิน งานนี้ไม่มีเสื้อสีใดทั้งสิ้น อยู่มา 2 ปี 7 เดือน ทำอะไรบ้าง
เมื่อถามว่า ปัญหาเรื่องนี้กลั่นแกล้งกันได้ จะป้องกันอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า กลั่นแกล้งไม่ได้ เราต้องป้องกัน หวังผลของงาน กระทบความมั่นคง เบื้องสูงไม่ได้ เรามีวิธีการคิด และทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น