ตามที่ได้มีความขัดแย้งในการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ และไม่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนจนเป็นสาเหตุของการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง บางฝ่ายคิดว่าการออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเนื่องจากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจและฝ่ายประชาชนเสียประโยชน์
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพ ยืนยันว่าที่ผ่านมากรรมการภาคประชาชนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ จากกองทุน หากมีคงเป็นเพียงเบี้ยประชุม แต่หากหมอที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการ ที่ได้เป็นกรรมหลักประกันสุขภาพในชุดใหม่นี้ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ กำหนดเพิ่มค่ารักษา เช่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน แม้เพิ่มขึ้นเพียง 1 บาทต่อหัวประชากร ก็ได้เงินมากถึง 48 ล้านบาท ที่ผ่านมากรรมการภาคประชาชน ได้ตรวจสอบหน่วยบริการที่เรียกเก็บเงินไม่ถูกต้องและดำเนินการเรียกเงินคืน และผลักดันให้ระบบหลักประกันสามารถครอบคลุมทุกคนทุกโรคได้เพิ่มขึ้น การได้รับยาของผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และการเข้าถึงการรักษาโรคที่ไม่เร่งด่วน เช่น และพร้อมผลักดันให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการกระจายแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศเพราะขณะนี้ภาคอีสานมีสัดส่วนแพทย์น้อยที่สุด
การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้มีสัดส่วนของภาคประชาชนก็เพื่อให้เข้าไปถ่วงดุลย์ สร้างให้เกิดความเป็นธรรมในระบบสิทธิประโยชน์ การส่งเสียงทักท้วงในการเลือกตั้ง การลากตั้งอนุกรรมการที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจของภาคประชาชน แต่นี่คือการพยายามสร้างให้ระบบมีความสมดุล ความเป็นธรรม ให้ยังคงดำรงค์อยู่ เพื่อให้ประชาชน 48 ล้านคนยังคงเข้าถึงบริการดูแลการรักษาที่มีคุณภาพและมีโอกาสในการมีคุณภาพมาตรฐานเดียวได้ต่อไป
นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ตัวแทนภาคประชาชนอีกคนหนึ่งในกรรมการหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า อยากให้สังคมจับตาดูรายชื่อและคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิและอนุกรรมการ จะพบว่าไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันสุขภาพอยู่ในนั้นเลย แต่เต็มไปด้วยตัวแทนของโรงพยาบาลเอกชน และผู้ที่ถูกเสนอชื่อโดยภาคการเมือง แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความพยายามที่จะครอบงำ และเพิ่มผลประโยชน์ของกลุ่มแพทย์พาณิชย์ในระบบหลักประกัน แม้ตัวแทนภาคประชาชนจะได้ท้วงติงก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานในที่ประชุมแต่อย่างใด