xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.คลอดคณะอนุ กก.13 ชุดเอ็นจีโอค้าน ‘หมอวิชัย’ ลั่นไม่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มติบอร์ด สปสช.คลอดคณะอนุกก.13 ชุด เอ็นจีโอซัดพวกมากลากไป ตั้งตามอำเภอใจไม่เหมาะสม ยกกรณีเลือกปลัด สธ.เป็นปธ.คณะอนุกก.บริหารยุทธศาสตร์ เหตุหน้าที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ “หมอวิชัย” ไม่พอใจ เดินออกห้องประชุมทันที

นพ.วินัย สวัสดิวร
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาวาระเรื่องการสรรหารายชื่อองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการทั้งสิ้น 12 คณะ จำนวน 217 คน และได้มีการเสนอคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 1 คณะ คือ คณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เนื่องจากบอร์ด สปสช.เล็งเห็นว่าเป็นคณะที่จำเป็นในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้จึงมีมติเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการทั้งสิ้น 13 คณะ

เมื่อถามถึงข้อกังวลของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และชมรมแพทย์ชนบท เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะอนุกรรมการด้านบริหารยุทธศาสตร์ ที่มีกระแสข่าวว่าจะปรับเปลี่ยนให้สามารถอนุมัติวงเงินได้ 500 ล้านบาท ซึ่งเดิมไม่เคยมีมาก่อน นพ.วินัย กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ เพราะเป็นหน้าที่ของ สปสช.ไม่ใช่คณะอนุกรรมการชุดใดชุดหนึ่ง หากจะเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จะเป็นการก้าวล่วง ส่วนอำนาจที่จะสามารถเรียกเงินคืนจากหน่วยบริการกรณีไม่สามารถทำตามข้อกำหนดการรักษาพยาบาล ก็ไม่สามารถทำได้ ต้องเป็นหน้าที่ของสปสช.เช่นกัน ดังนั้น หน้าที่ของคณะอนุกรรมการชุดนี้จึงมีหน้าที่บริหารยุทธศาสตร์เป็นหลัก


นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการสัดส่วนองค์กรเอกชน บอร์ด สปสช.กล่าวว่า คณะอนุกรรมการเหล่านี้ไม่มีหลักการชัดเจนในการเลือก ไม่สามารถอธิบายเหตุผลของการเลือกบุคคลต่างๆ เป็นการตั้งโดยอำเภอใจ ยึดพวกมากลากไป ไม่มีการพิจารณาประเด็นสัดส่วนว่าควรมาจากองค์กร หรือหน่วยงานใด จำนวนเท่าใด ไม่พิจารณาคุณสมบัติในสายงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเป็นเจ้าของปัญหาที่จะแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดไม่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่าง คณะอนุกรรมการด้านบริหารยุทธศาสตร์ ที่มีปลัด สธ.เป็นประธาน ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากต้องเข้าใจก่อนว่าที่ผ่านมา สปสช.ทำหน้าที่ในการซื้อและเลือกหน่วยบริการให้แก่ประชาชน ทำหน้าที่ต่อรองราคาค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่หากให้ปลัด สธ. ซึ่งดูแลหน่วยบริการโดยตรงอยู่แล้ว มาทำหน้าที่ซื้อบริการทางการแพทย์จากหน่วยบริการที่ตัวเองดูแลอีก การต่อรอง การกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆจะเป็นเช่นใด ซึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เป็นห่วง คงต้องจับตากันต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเลือกคณะอนุกรรมการที่ผ่านมาใช้เวลาร่วม 5 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 14.00 น.ของวันที่ 24 ม.ค. โดยประเด็นที่ถกเถียงมากสุด คือ การเลือก ปลัด สธ. เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านบริหารยุทธศาสตร์ ส่งผลให้นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสัดส่วนองค์กรเอกชน เห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากจะส่งผลต่อการทำงานได้และเดินออกจากห้องประชุมทันที

สำหรับคณะอนุกรรมการทั้ง 13 ชุดที่บอร์ด สปสช.มีมติแต่งตั้งนั้น ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการด้านบริหารยุทธศาสตร์ มี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน 2.คณะกรรมการอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ มี ปลัด สธ.เป็นประธาน 3. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง มีน.ส.วรนุช หงสประภาส ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงินการคลัง บอร์ด สปสช. เป็นประธาน 4.คณะกรรมการประเมินผลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.จรัล ตฤรวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นประธาน 5.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรณีอุทธรณ์ มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน 6. คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาและบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี /ผู้ป่วยเอดส์ มีนพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน 7.คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีนพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก เป็นประธาน

8. คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีมีพญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประกันสุขภาพ เป็นประธาน 9. คณะกรรมการตรวจสอบ ยังคงใช้คณะกรรมการชุดเดิม คือ นายเปล่ง ทองสม เป็นประธาน 10. คณะอนุกรรมการธรรมาภิบาล ดร.สุนีย์ มัลลิมาลย์ ศาสตรจารย์ระดับ 10 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน 11. คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วม และการคุ้มครองสิทธิ มีดร.สุนีย์ มัลลิมาลย์ ศาสตรจารย์ระดับ 10 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ 12. คณะอนุกรรมการทบทวนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีนายสุพจน์ ฤชุพันธ์ อดีตอัยการจังหวัด สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น