xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงาน ร่วมภาคีฯ ตั้งคณะทำงานสร้างความพร้อมกรณีจ้างงานคนพิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน ถกหน่วยงานรัฐ-เอกชน จ้างงานคนพิการ ห่วงผู้พิการไม่มีความพร้อมทำงาน สถานประกอบการไม่เข้าใจตำแหน่งงาน-การทำงาน สรุปตั้งคณะทำงานไตรภาคีสร้างความพร้อมและความเข้าใจแก่ทุกฝ่าย คาด ต้องจ้างงานผู้พิการกว่า 5.3 หมื่นคน

วานนี้ (19 ม.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวหลังเป็นประธานประชุมหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการ ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการจ้างงานคนพิการ เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงานฯ พ.ศ.2554 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมกำหนดให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงานในสัดส่วนคนพิการ 1 คนต่อคนปกติ 200 คนได้ปรับสัดส่วนใหม่เป็นคนพิการ 1 คนต่อคนปกติ 100 คน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 ม.ค.2555

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ในปัจจุบันมีสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จำนวน 14,382 แห่ง ลูกจ้างกว่า 5.3 ล้านคน ซึ่งตามกฎกระทรวงที่แก้ไขเพิ่มเติม จะต้องมีการจ้างงานผู้พิการกว่า 5.3 หมื่นคน

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นว่าผู้พิการส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการทำงาน ขณะเดียวกัน สถานประกอบการก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องตำแหน่งงานและการทำงานของคนพิการ ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบกระทรวงแรงงานให้แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายหน่วยงานรัฐ เอกชนและคนพิการ ฝ่ายละ 5-6 คน อยู่ภายใต้การกำกับของคณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพคนพิการที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีฯ จะทำหน้าที่สร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องตำแหน่งงานและการทำงานของคนพิการให้แก่หน่วยงานรัฐ เอกชนและผู้พิการ

“ผมจะมอบหมายให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ไปจัดหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับผู้พิการในลักษณะของการจับคู่ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมกับสมาคมคนพิการต่างๆจัดอบรมเตรียมความพร้อมในการทำงานให้แก่คนพิการ” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในมาตรา 33 กำหนดให้หน่วยงานรัฐ เอกชนต้องรับผู้พิการเข้าทำงานตามสัดส่วนที่กฎกระทรวงแรงงานกำหนด หากเอกชนไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงาน จะต้องดำเนินการตามมาตรา 34 ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งกำหนดให้คนพิการได้รับค่าจ้างตามอัตราของจังหวัดที่มีค่าจ้างต่ำสุดของประเทศ คือ จ.พะเยา อยู่ที่ 159 บาทต่อวัน โดยคำนวณเวลาจ้างงาน 365 วัน ทำให้สถานประกอบการต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนปีละ 58,035 บาทต่อคนพิการ 1 คน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 เมษายน 2555 เมื่อปรับค่าจ้างเพิ่มอีก 40% ทำให้ จ.พะเยา ค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 222.60 บาทต่อวัน เมื่อคำนวณจากเวลาจ้างงาน 365 วัน ทำให้สถานประกอบการต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯปีละ 81,249 บาทต่อคนพิการ 1 คน และหากสถานประกอบการไม่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ก็ต้องดำเนินการตามมาตรา 35 ให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือจัดจ้างเหมาช่วงงานคนพิการโดยเมื่อคำนวณจากค่าสัมปทานสถานที่จำหน่ายสินค้า จะอยู่ในอัตราเดียวกับวงเงินที่จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯในแต่ละปี ทั้งนี้ ตนจะเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีฯและนัดประชุมหารือกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น