xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนี ศก.การจ้างงานติดลบทั้ง 8 ด้าน รง.เฝ้าระวัง 12 อุตสาหกรรมเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์
ปลัดแรงงาน เผยผลวิเคราะห์ดัชนี ศก.8 ด้าน ติดลบ ส่งผลการจ้างงาน-เลิกจ้าง ชี้ 12 กลุ่มอุตฯเสี่ยง ตั้งทีมเฝ้าระวังใกล้ชิด ย้ำเป็นวิกฤตระยะสั้นจากน้ำท่วม

วันนี้ (17 ม.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า ศูนย์ข้อมูลสำนักเศรษฐกิจการแรงงานได้รายงานผลวิเคราะห์สรุปการเตือนภัยด้านแรงงาน พบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ได้มีดัชนีชี้วัดที่ส่งสัญญาณเตือนการจ้างงานอยู่ในระดับอันตรายทั้งหมด 8 ตัว จาก 13 ตัวชี้วัด ที่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการเลิกจ้าง ได้แก่ 1.ข้อมูลการจำหน่ายรถยนต์ ในเดือน พ.ย.2554 ลดลงจากเดือน พ.ย.2553 ถึง 79.99% ทั้งนี้ ยอดการจำหน่ายลดลง เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม 2.ข้อมูลการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ พบว่า ในเดือนพ.ย.2554 ลดลงจากเดือน พ.ย.2553 ถึง 78.86% ซึ่งการลดลงเช่นนี้จะส่งผลต่อภาวะการจ้างงานได้

3.ข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือน พ.ย.2554 อยู่ที่ 40.43% ลดลงจากเดือน พ.ย. 2553 ถึง 36.48% 4.ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.2554 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 97.9 ลดลงจากเดือน พ.ย.2553 ถึง 48.59%

5.ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ประจำเดือน พ.ย.54 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 39 ลดลงจากเดือน พ.ย. 2553 ถึง 25.71% 6.ข้อมูลการใช้กระแสไฟฟ้าในเดือน พ.ย.2554 พบว่าลดลงจากเดือน พ.ย.2553 ถึง 4.67%
7.ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ในเดือน พ.ย.2554 พบว่า ดัชนีมีค่าอยู่ที่ 135.06 ลดลงจากเดือน พ.ย.2553 ถึง 1.90% และ 8.มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย.2554 พบว่า มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 15,496.37 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากเดือน พ.ย.2553 ถึง 12.46%

นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ข้อมูลทั้งหมดเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักของสภาวะการจ้างงานและการเลิกจ้าง ซึ่งคาดว่ามีโอกาสที่จะเกิดการเลิกจ้างอยู่ที่ 50% ของการจ้างงานทั้งหมดในรอบ 12 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2554 ถึง พ.ย.2555 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการว่างงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในช่วงเดือน พ.ย.2554 พบว่า มีผู้ประกันตน มาตรา 33 ว่างงานเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งเป็นอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยมีนายปกรณ์ อมรชีวิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงานติดตามฯ โดยมีการเฝ้าระวังและเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ประกอบการ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยง ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.เครื่องจักรสำนักงาน 3.อิเล็กทรอนิกส์ 4.สิ่งทอ 5.เครื่องแต่งกาย 6.เครื่องใช้ในบ้านเรือน 7.โทรทัศน์และวิทยุ 8.ยาง 9.เคมีภัณฑ์ 10.เม็ดพลาสติก 11.ปิโตรเลียม 12.เครื่องจักรทั่วไป

“จากข้อมูลดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ในเชิงทฤษฎี ซึ่งหากเป็นช่วงภาวะปกติ ข้อมูลค่อนข้างแม่นยำ แต่ครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ และเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น จึงเชื่อว่า ไม่น่าจะเกิดภาวะวิกฤตการจ้างงานและเลิกจ้างที่รุนแรง ซึ่งเราก็ไม่ได้ประมาท และได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น