รองปลัดแรงงาน เผย เตรียมร่วมไอแอลโอ ให้ไทยเป็นกรณีศึกษา การทำระบบประกันว่างงาน และการมีงานทำในภูมิภาคอาเซียน ชี้เวียดนามเตรียมก้าวกระโดดสู่ระบบประกันมีงานทำ เตือนลูกจ้างอย่าใช้สิทธิ์ว่างงานพร่ำเพรื่อ เร่งกลับเข้าโรงงานช่วยฟื้นเศรษฐกิจและมีรายได้เต็มร้อย
วันนี้ (8 ธ.ค.) น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการหารือกับ น.ส.ซีลีน เปย์รอง บิสตา หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิชาการโครงการ ASEN UI สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทยกัมพูชาและลาว เกี่ยวกับเรื่องการประกันการว่างงานและประกันการมีงานทำ ทั้งนี้ น.ส.ซีลีน ได้เสนอให้กระทรวงแรงงานเข้าร่วมโครงการ ASEAN UI ที่เป็นโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การประกันการว่างงาน และการประกันการมีงานทำระหว่างภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากในปัจจุบันประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ ที่มีกองทุนประกันการว่างงาน มีเพียง 2 ประเทศ คือ ไทย และเวียดนาม โดยเฉพาะประเทศไทยมีประสบการณ์เรื่องนี้มานานกว่า 7 ปี ทางไอแอลโอจึงอยากให้ไทยเป็นกรณีศึกษาของประเทศในอาเซียน ซึ่งล่าสุด มีประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่อยู่ระหว่างการศึกษาตั้งกองทุนประกันการว่างงาน
ทั้งนี้ ตนได้เสนอผลการหารือต่อนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน รับทราบแล้ว ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2554-2556 ซึ่งในเดือนมกราคมปี 2555 จะมีการจัดประชุมเรื่องการประกันการว่างงานในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และในเดือนมีนาคมปี 2555 ที่นครโฮจินมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งกระทรวงแรงงานเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชียวชาญเข้าร่วมประชุมทั้ง 2 งานด้วย
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันระบบประกันการมีงานทำมี 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบแรกเป็นการประกันว่างงานสำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และไม่มีงานทำให้มีรายได้ช่วงตกงาน เช่น กองทุนประกันว่างงานของสำนักงานประกันสังคมจ่าย 50% ของอัตราค่าจ้างเป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนรูปแบบที่สองเป็นการประกันการจ้างงาน ซึ่งนำเงินจากกองทุนไปช่วยเหลือนายจ้างเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน ขณะเดียวกัน ยังเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างให้มีงานทำ
“ขณะนี้ในอาเซียนมี 2 ประเทศ คือ ไทย และเวียดนาม ที่กำลังก้าวจากระบบประกันว่างงานไปสู่ระบบประกันการมีงานทำ ซึ่งขณะนี้เวียดนามกำลังเตรียมตัวในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนไทยยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากจะก้าวไปสู่ระบบประกันการมีงานทำ จะต้องมีความพร้อมในเรื่องของระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน งบประมาณ และระดับนโยบายจะต้องให้ความสำคัญด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีความร่วมมือกันหลายหน่วยงานเช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง” น.ส.ส่งศรี กล่าว
น.ส.ส่งศรี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนส่วนใหญ่ใช้สิทธิ์กรณีว่างงานโดยเมื่อถูกเลิกจ้างได้รับเงิน 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และไม่ยอมกลับไปทำงานทั้งๆ ที่มีตำแหน่งงานว่างรองรับและตรงตามคุณสมบัติที่นายจ้างต้องการ เนื่องจากผู้ประกันตนได้รับเงินชดเชยโดยที่ไม่ต้องการทำงาน ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขขาดแคลนแรงงานสูงขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือไปยังลูกจ้างอย่าใช้สิทธิ์เต็มที่ และกลับเข้าทำงานตามสถานการณ์ที่เป็นจริง เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไป ซึ่งล่าสุดได้มีแนวคิดที่จะเสนอให้กับผู้ที่ใช้สิทธิ์ไปแล้ว 1-2 เดือนให้รับเงินชดเชยส่วนที่เหลือในลักษณะเป็นก้อนเพื่อจูงใจให้กลับเข้าทำงานโดยเร็ว จะทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างเต็ม 100% รวมทั้งเงินโอทีและสวัสดิการต่างๆ