xs
xsm
sm
md
lg

ยันเสี่ยงตกงานแค่แสนคน มีตำแหน่งรองรับเหลือเฟือ ชี้ ไม่ปรับเกณฑ์เงินเลิกจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ปลัดแรงงาน ชี้ สถานการณ์ว่างงานไม่น่าห่วง แรงงานน้ำท่วมหยุดงานชั่วคราว 6.6 แสนคน ยังไม่ถูกเลิกจ้าง ตกงานแล้วแค่ 9.5 พันคน คาดเสี่ยงตกงานแค่ 1 แสนคน เตรียมตำแหน่งงานรองรับไว้กว่า 1.4 แสนอัตรา ขณะที่ยืนยันไม่ปรับเกณฑ์จ่ายเงินบรรเทาเลิกจ้าง

วันนี้ (29 พ.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวถึงผลประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลให้ไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 มีอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.8-2.3% หรือมีผู้ว่างงานประมาณ 7.8-9.2 แสนคน ว่า ที่ผ่านมา ใน 39 จังหวัด มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 28,678 แห่ง แรงงานประสบภัยน้ำท่วม 993,929 คน ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานวันที่ 29 พ.ย.มีสถานประกอบการที่ยังได้รับผลกระทบ 14,031 แห่ง แรงงาน 661,627 คน มีแรงงานถูกเลิกจ้าง 9,572 คน ในสถานประกอบการ 31 แห่ง และมีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 14,647 แห่ง แรงงานกลับเข้าทำงานแล้ว 332,302 คน

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน 661,627 คน เป็นเพียงการหยุดงานชั่วคราวยังไม่ได้ถูกเลิกจ้าง เชื่อว่า หากสถานประกอบการเริ่มฟื้นตัวได้ก็จะทำให้แรงงานกลุ่มนี้ทยอยกลับเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกงานอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานของบริษัทรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค)

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้เตรียมมาตรการต่างๆ รองรับไว้ เช่น การจัดหาตำแหน่งงานว่าง ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 1.4 แสนอัตรา โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ที่รับแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมไปทำงานชั่วคราวในพื้นที่อื่น มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 592 แห่ง ใน 46 จังหวัด ต้องการรับลูกจ้าง 70,784 คน

นพ.สมเกียรติ กล่าวถึงกรณีสำนักงบประมาณได้พิจารณาร่างหลักเกณฑ์การจ่ายเงินป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างของกระทรวงแรงงาน ซึ่งช่วยจ่ายค่าจ้างแทนนายจ้างรายละ 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และเสนอให้กระทรวงแรงงานปรับร่างเกณฑ์จากจ่ายผ่านนายจ้าง ไปเป็นจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยตรง ว่า กระทรวงแรงงานยังคงยืนยันหลักการและวิธีการเดิมในการจ่ายเงินป้องกันและ บรรเทาการเลิกจ้างผ่านนายจ้าง เพราะเป้าหมายของโครงการคือเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน ช่วยเหลือนายจ้างให้มีกำลังจ้างงานลูกจ้างต่อไป

“หากมีการปรับเกณฑ์ใหม่ ให้จ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยตรง จะมีปัญหาเยอะไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการยุ่งยาก ทำให้ทำงานยากขึ้น จะไม่จูงใจให้นายจ้างเข้าร่วมโครงการและไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสามารถ รักษาสภาพการจ้างงานไว้ได้ รวมทั้งรัฐบาลจะมีภาระด้านงบประมาณเพิ่มขึ้น เพราะต้องช่วยเหลือแรงงานทุกคน ซึ่ง กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายกลุ่มแรงงานในโครงการฯ ไว้ 3 แสนคน ใช้งบประมาณกว่า 1.8 พันล้านบาท แต่หากต้องช่วยแรงงานทุกคน กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 แสนคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสถานประกอบการยื่นขอเข้าร่วมโครงการแล้ว 324 แห่ง ลูกจ้าง 210,170 คน” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า จะมอบให้ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ไปชี้แจงและยืนยันหลักการและวิธีการเดิมกับสำนักงบประมาณ เพราะหากมีการปรับเกณฑ์การจ่ายเงินขึ้นมาจริงๆ จะทำให้ต้องมีการทบทวนโครงการฯ นี้ใหม่ ทำให้การดำเนินการล่าช้าออกไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น