กทม.ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจมาตรฐานการผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็ง และตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในสถานประกอบการที่น้ำท่วม เฝ้าระวังการปนเปื้อนและกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบการผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็งที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สร้างความปลอดภัยในการบริโภคให้ประชาชนในพื้นที่
วันนี้ (19 ม.ค.) เวลา 10.00 น. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารกทม.เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย และสำนักงานเขตคลองสามวา ลงพื้นที่ตรวจสุขลักษณะสถานประกอบการผลิตน้ำแข็ง ณ บริษัท ตั้งเจริญมีนบุรี จำกัด เขตคลองสามวา เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำแข็ง พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านสุขลักษณะการประกอบการที่ดี และมอบชุดวัสดุปรับปรุงสุขาภิบาลแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการผลิตน้ำบริโภคและน้ำแข็งให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
กทม.โดยสำนักอนามัย และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดทำแผนเฝ้าระวังตรวจสอบสุขลักษณะสถานประกอบการผลิตน้ำบริโภคและน้ำแข็ง เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่มาจากน้ำและอาหาร เช่น อุจจาระร่วง บิด และอาหารเป็นพิษ พร้อมเก็บตัวอย่างจากสถานที่ผลิตน้ำบริโภค น้ำแข็ง และตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญภายหลังประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.54 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 193 ราย แบ่งเป็น ผลิตน้ำบริโภค 92 ราย (คิดเป็นร้อยละ 47 จากจำนวนทั้งหมดใน กทม. 198 ราย) น้ำแข็ง 26 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 37 จากจำนวนทั้งหมดใน กทม. 71 ราย) ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญโดยสุ่มตรวจ 75 แห่ง จากจำนวนที่ประสบภัย 626 ราย (คิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวนทั้งหมดใน กทม.2,904 ราย)
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบด้านสุขลักษณะสถานที่ผลิต พบว่า สถานที่ผลิตน้ำบริโภคและน้ำแข็ง 118 ราย หยุดประกอบการเพื่อปรับปรุงสถานประกอบการ 25 ราย (21%) อยู่ระหว่างทดสอบระบบการผลิต 20 ราย (17%) และมีการผลิต 73 ราย (62%) ก่อนการผลิตสถานประกอบการได้มีการซ่อมบำรุง ทำความสะอาดเครื่องจักร และการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการทำ Pre chlorination โดยใช้คลอรีนในการฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในน้ำก่อนเข้าระบบการผลิตในถังเก็บน้ำที่ใช้ในการผลิตเพื่อให้มีค่าคลอรีนอิสระคงเหลือ 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร สำหรับฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในน้ำ ตลอดจนตรวจสอบคุณภาพน้ำหลังการผลิตเบื้องต้น อาทิ ค่าความกระด้างของน้ำ ค่าความเป็นกรดด่าง พบว่า ผ่านเกณฑ์วิธีที่ดีในการผลิตอาหารตามมาตรฐานจีเอ็มพี (Good Manufacturing Practice : GMP) ทั้งหมด ด้านการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 75 ราย พบว่า ผ่านเกณฑ์ด้านสุขลักษณะทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการได้มีการตรวจเช็คคุณภาพน้ำและเปลี่ยนไส้กรองทันทีที่พบว่าคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ กทม.ได้มีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางชีววิทยา เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนของเชื้อโรคในน้ำบริโภคและน้ำแข็ง เป็นการป้องกันการเกิดโรคท้องเสีย อุจจาระร่วง บิด และอาหารเป็นพิษ จากการบริโภคน้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาด มีการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำและน้ำแข็งจำนวน 89 ตัวอย่าง พบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำแข็ง 1 ตัวอย่าง ร้อยละ 1.23 และในน้ำดื่ม 4 ตัวอย่าง ร้อยละ 4.49 ซึ่งเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครได้แจ้งผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไขและตรวจซ้ำไม่พบการปนเปื้อนดังกล่าวแล้วทุกราย (การตรวจพบโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำและน้ำแข็ง เป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะการสุขาภิบาลในน้ำและน้ำแข็งมีการปนเปื้อนเชื้อที่อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร) ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำด้านสุขลักษณะการประกอบการที่ดีและวิธีการใช้คลอรีนที่ถูกต้อง เช่น การฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในน้ำเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนการผลิต (Pre chlorination) ด้วยการเติมคลอรีนในถังพักน้ำเพื่อให้มีค่าคลอรีนอิสระคงเหลือ 0.2 - 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร พร้อมมอบชุดวัสดุปรับปรุงสุขาภิบาลแก่ผู้ประกอบการด้วย
พญ.มาลินี กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ขึ้น และขณะนี้สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจึงได้มอบหมายให้สำนักอนามัย และสำนักงานเขต ลงพื้นที่ตรวจสอบด้านสุขลักษณะสถานประกอบการผลิตและตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริโภคและน้ำแข็งในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนของเชื้อโรคในน้ำบริโภคและน้ำแข็ง รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการผลิตน้ำบริโภคและน้ำแข็งที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคน้ำและน้ำแข็งที่มีคุณภาพ สะอาด และได้มาตรฐาน