xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ข้อมูลฯ ธอส.ชี้ อสังหาฯ ยิ่งจมนานยิ่งเสียหาย-ฟื้นฟูยาก กระทบหนักภาคครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธอส.ประเมินบ้านจัดสรรเสียหายจากน้ำท่วม 1.7 แสนหน่วย แต่หากรวมทั้งหมดอาจเกิน 1 ล้านหน่วย กังวลน้ำท่วมยิ่งนานบ้านยิ่งเสียหายเยอะ ใช้เวลาฟื้นฟูนาน บ้านเดี่ยวที่น้ำท่วมระดับเกินหัวเข่าจะมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท ส่วนทาวน์เฮาส์จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่าย และการผ่อนชำระต่างๆ กระทบตลาดบ้านซบเซาไปถึงสิ้นไตรมาสแรกปีหน้า



นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินว่า หลังภาวะน้ำท่วมสิ้นสุดลงแล้ว จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเฉพาะในโครงการบ้านจัดสรรที่ได้รับความเสียหายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 170,000 หน่วย ทั้งนี้ ในการประเมินได้คำนึงแล้วว่ามีโครงการบ้านจัดสรรหลายโครงการที่ถูกน้ำท่วมเพียงบางส่วน และบางโครงการได้รับความเสียหายเพียงภายนอกบ้าน จึงประเมินเฉพาะหน่วยที่เสียหายจริงและไม่ได้นับจากหน่วยในผังโครงการทั้งหมดที่อยู่ในเขตน้ำท่วม

อนึ่ง จำนวนหน่วยดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมหน่วยบ้านนอกโครงการจัดสรร หรือบ้านที่ประชาชนสร้างเอง หรือบ้านเช่า ซึ่งมีจำนวนอีกหลายแสนหน่วยโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา ซึ่งหากรวมกันทั้งหมดแล้วจะมีจำนวนสูงถึงประมาณ 1 ล้านหน่วยใน 7 จังหวัดดังกล่าว คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา

แม้ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมน่าจะไม่ขยายวงไปกว่านี้มากนัก แต่มีโครงการบ้านจัดสรรหลายโครงการในพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมหนักไปแล้วนั้น ยังต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำและต้องเผชิญภาวะน้ำท่วมต่อไปอีกหลายสัปดาห์ เมื่อระยะเวลาที่อสังหาริมทรัพย์จมอยู่ในน้ำนานขึ้น ขอบเขตความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวอสังหาริมทรัพย์ก็มีมากขึ้นและต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานขึ้น

ดังนั้น บ้านจัดสรรที่มีระดับน้ำท่วมสูงมากและจมน้ำนานมากถึงสองเดือนอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูซ่อมแซมนานนับเดือนเจ้าของจึงจะสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยได้ตามเดิม หรือต้องใช้เวลาข้ามไปถึงต้นปี กระบวนการฟื้นฟูทั้งการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคเชื้อรา การซ่อมแซมหรือซื้อหาประตู หน้าต่าง เครื่องปั๊มน้ำ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์ วัสดุปูพื้น วัสดุปูผนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้จำเป็นประจำบ้าน สีทาบ้าน ฯลฯ

ซึ่งสำหรับบ้านจัดสรรที่เป็นบ้านเดี่ยว และถูกน้ำท่วมระดับหัวเข่าขึ้นไปน่าจะมีค่าใช้จ่ายในหลักประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไป และสำหรับบ้านประเภททาวน์เฮาส์อาจมีค่าใช้จ่ายในไม่กี่หมื่นบาทถึงหลายหมื่นบาทเหล่านี้ รวมกันจะทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายมาก ทำให้ระดับความสามารถในการซื้อหาหรือผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัยใหม่ลดน้อยลง ตลาดบ้านจะอยู่ในภาวะซบเซาไปตลอดจนถึงสิ้นไตรมาสแรกปีหน้าเป็นอย่างน้อย

สำหรับผู้บริโภคซึ่งได้วางเงินดาวน์ หรือได้เริ่มต้นผ่อนชำระไปไม่นาน และบ้านที่วางเงินดาวน์หรือซื้อแล้วได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าสูงกว่าจำนวนเงินดาวน์หรือเงินที่ผ่อนชำระไปแล้วมาก ย่อมมีโอกาสสูงที่จะทิ้งดาวน์หรือไม่ผ่อนต่อ แต่หากประมาณมูลค่าความเสียหายไม่สูงเท่าเงินดาวน์หรือเงินกู้ที่ผ่อนชำระไปแล้วผู้บริโภคน่าจะเลือกที่จะซ่อมแซมบ้านและอยู่อาศัยต่อไป

สำหรับในฟากผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น มีผู้ประกอบการหลายรายที่ได้ประกาศเลื่อนการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยออกไปจากแผนงานเดิมที่จะเปิดในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไปเป็นการเปิดในปีหน้าแทน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่โดยปกติจะมีการเปิดโครงการจำนวนมากในปริมณฑล

โดยในรอบตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลน้อยมาก กล่าวคือ มีหน่วยบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่เพียงประมาณ 3,000 หน่วยจากประมาณ 20 โครงการ (เป็นการเปิดขายใหม่ใน 3 สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนเพียงประมาณ 320 หน่วยจากบ้านจัดสรร 2 โครงการ) และมีหน่วยห้องชุดเปิดชายใหม่เพียงประมาณ 6,000 หน่วยจากอาคารชุดประมาณ 17 โครงการ (เป็นการเปิดขายใหม่ใน 3 สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนเพียงประมาณ 1,400 หน่วยจาก 2 โครงการ)

เมื่อรวมตั้งแต่ต้นปี 2554 เป็นต้นมา หรือประมาณ 10 เดือนครึ่ง มีหน่วยโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ประมาณ 37,000 หน่วย และหน่วยห้องชุดประมาณ 40,000 หน่วย หรือรวมกันประมาณ 77,000 หน่วย ในขณะที่ปี 2553 ทั้งปีมีหน่วยบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่รวมประมาณ 54,000 หน่วย และหน่วยห้องชุดเปิดขายใหม่รวมประมาณ 66,000 หน่วย หรือรวมกันประมาณ 120,000 หน่วย

ผลจากอุทกภัยครั้งใหญ่และแนวโน้มการชะลอตัวของการซื้อขาย และการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ทำให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศเลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์ LTV หรือการควบคุมสัดส่วนวงเงินกู้ต่อราคาบ้านสำหรับบ้านจัดสรร ซึ่งเดิมกำหนดให้บังคับใช้ร้อยละ 95 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 นั้น ขยายไปบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 แทน หรือเลื่อนออกไปอีกหนึ่งปี ซึ่งถือเป็นแนวทางที่อะลุ่มอล่วยต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการโดยรวมและเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมต่อสภาพตลาด

อุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงิน มองหาการประกันภัยน้ำท่วมเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีแผนแม่บท หรือ Master Plan ในการบริหารจัดการเพื่อรับมือภาวะน้ำท่วมในอนาคต บริษัทประกันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจะยังไม่กล้ารับประกันภัยน้ำท่วม (Flood Insurance) หรือหากรับประกันก็จะมีอัตราค่าเบี้ยประกันที่สูงมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น