xs
xsm
sm
md
lg

ธอส. เร่งกู้ชีพลูกหนี้บ้านจมน้ำ 7.6 หมื่นราย อสังหาฯ กระทุ้งคุมวัสดุก่อสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธอส. เร่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือบ้านจมน้ำ คาดมีลูกค้าจมน้ำพุ่งกว่า 7.6 หมื่นราย ยอดสินเชื่อ 4-5 หมื่นล้านบาท ส่งทีมให้คำปรึกษา พร้อมรับคำร้องขอใช้มาตรการลดภาระหนี้ที่อยู่อาศัย เพื่อซับน้ำตาผู้ประสบภัย ด้านผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ โวยรัฐเมินเฉยคุมราคาสินค้า กระทุ้งดูแลปัญหาวัสดุก่อสร้างราคาพุ่ง-ขาดตลาด ขณะที่แรงงานถูกเลิกจ้างแล้ว 4.5 พันราย

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่าที่ธอส. สำนักงานใหญ่ ตั้งศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นทีมที่ให้คำปรึกษา รับคำร้องขอใช้มาตรการลดภาระหนี้ที่อยู่อาศัยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยผู้ประสบภัยสามารถเดินทางมาติดต่อด้วยตัวเอง หรือ call center เบอร์ 02-6459000 ทั้งนี้เบื้องต้นคาดว่าจะมีลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบประมาณ 7.6 หมื่นราย เป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ3 หมื่นรายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบได้แก่กรณีลูกค้าเดิมของธนาคาร ที่หลักประกันหรือรายได้ได้รับผลกระทบ ธนาคารจะผ่อนปรนการผ่อนชำระหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน (คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี) กรณีได้รับผลกระทบรุนแรง จะพิจารณาผ่อนปรนการผ่อนชำระหนี้ต่อให้อีกไม่เกิน 6 เดือน (คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี)โดยจะพิจารณาตามระดับความเสียหาย

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุร กิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า สมาคมที่เกี่ยว ข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมา คมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ได้ทำหนังสือยื่นไปยัง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้หาแนวทางดูแล ควบคุม วัสดุก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้าน หลังจากระดับน้ำลดลงแล้ว เพื่อให้รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมไม่เกิดปัญหาสิน ค้าขาดตลาด และผู้ผลิตฉวยโอกาสปรับ ขึ้นราคาสินค้า จนสร้างความเดือดร้อนแก่ ประชาชนที่มีปัญหาบ้านถูกน้ำท่วม เนื่อง จากคาดว่าหลังระดับน้ำลดลงประชาชนจะต้องการซื้อวัสดุซ่อมแซมบ้านจำนวนมาก

โดยทั้ง 3 สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือให้แก่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว ผ่านเลขานายกรัฐมนตรี แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับคำตอบออกมาจากรัฐบาลจะมี แนวทางดูแลอย่างไรบ้าง สำหรับสาเหตุที่ต้องยื่นหนังสือดังกล่าวถึงรัฐบาล เนื่องจากพบว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วม หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ยังไม่สามารถ ดูแลราคาสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมได้เลย ทำให้สินค้าทุกรายการต่างปรับขึ้นราคาสูงมาก ทั้งอิฐบล็อกจากเดิมชิ้นละ 3 บาท ก็ขึ้นราคาไปถึง 30 บาทต่อชิ้น เรือจากเดิมลำละ 2,000-3,000 บาท ก็ปรับขึ้นราคาไปถึงลำละ 12,000 บาทขึ้นไป เครื่องสูบน้ำจากเดิมราคา 5,000-7,000 บาท ก็ปรับขึ้นราคาสูงกว่า 10,000 บาท และหลังจากนี้ เมื่อประชาชนต้องการซื้อสินค้าซ่อมแซมบ้านจำนวนมาก ก็ไม่รู้ว่าผู้ผลิตสินค้า (ซัพพลายเออร์) จะปรับขึ้นราคาสิน ค้าอีกหรือไม่

ขณะเดียวทั้ง 3 สมาคมฯ ยังมีแผนเข้าไปพบกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้หามาตรการดูแลราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านหลังจากนี้ไปด้วย ส่วนบ้านที่คาดว่าจะเสียหายและต้องฟื้นฟูจากน้ำท่วมครั้งนี้คาดว่าจะมีมากกว่า 1 ล้านหลังทั่วประเทศ แต่ยังสรุปตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะปัญหาน้ำท่วมยังไม่จบลง

ขณะที่ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพการจ้างให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลิกจ้างแรงงาน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การเลิกจ้างยังไม่ได้รุนแรง ยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้ ซึ่งขณะนี้มีแรงงานเพียงประมาณ 4,500 คนในสถานประกอบการ 15 แห่งในจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา ที่ถูกเลิกจ้าง

ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานที่เดือดร้อนน้ำท่วมแทนนายจ้างรายละ 2 พันบาท โดยมีเงื่อนไขสถานประกอบการที่จะร่วมโครงการต้องอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และต้องเซ็นลงนามเอ็มโอยูและจ่ายค่าจ้างไม่น้อยร้อยละ 75 เพื่อชะลอการเลิกจ้าง และเป็นการช่วยรักษาสภาพการจ้าง

"ตอนนี้มีทั้งแรงงานที่ได้รับค่าจ้างร้อยละ 75 บางคนก็ได้รับค่าจ้างร้อยละ 50 ก็เข้าใจดีว่าลูกจ้างอยู่ในภาวะที่ลำบาก แต่เห็นว่าในช่วงวิกฤติเช่นนี้ทุกฝ่ายก็ต้องอดทน บางครั้งก็ต้องยอมเสียสละเพื่อจะได้อยู่รอดทั้งสองฝ่าย"

นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานมีโครงการต่างๆ ที่ช่วยเสริมรายได้ให้แก่แรงงาน เช่น โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนจ้างงานชั่วคราวแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ไปทำงานในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมเป็นเวลา 3 เดือน โครงการจ้างงานเร่งด่วนจ่ายค่าจ้างวันละ 150 บาทต่อวัน โครงการอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานวันละ 120 บาท ซึ่งโครงการเหล่านี้จะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่รอการฟื้นฟูโรงงาน รวมทั้งได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับแรงงานกว่า 1 แสนอัตราเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างให้มีงานทำ อย่างไรก็ตามมาตรการของรัฐบาลก็กำลังเร่งช่วยเหลือโรงงานให้กลับมาเปิดกิจการโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานที่อยู่นอกพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานในพื้นที่น้ำท่วมต้องปิดกิจการชั่วคราวนั้นทางกระทรวงแรงงานจะนำไปพิจารณาเพื่อหามาตรการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ เบื้องต้นจะต้องให้ความช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนเฉพาะหน้าก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น